ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ก้าวแรกสู่โลกการทำงานของ 'บัณฑิตใหม่' อาจส่งผลต่อเงินเดือนยาวนานนับสิบปี


Students sit at the graduation ceremony at Del Mar College in Corpus Christi, Texas.
Students sit at the graduation ceremony at Del Mar College in Corpus Christi, Texas.

งานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า การตัดสินใจรับทำงานที่แรกจะมีผลทำให้ได้เงินเดือนต่ำไปหลายปี หากว่าบัณฑิตจบใหม่รับงานที่ไม่ระบุว่าต้องมีวุฒิปริญญาตรี

บริษัทซอฟแวร์ Burning Glass Technologies ซึ่งทำวิจัยเรื่องตลาดแรงงาน ร่วมกับสถาบัน Strada Institute for the Future of Work ศึกษาผลกระทบจากการได้งานที่คุณสมบัติแท้จริงของผู้รับตำแหน่ง สูงกว่าทักษะที่จำเป็นต่อหน้าที่ดังกล่าว หรือที่เรียกว่าภาวะ ‘underemployed’

นักวิจัยพบว่า สองในสามของบัณฑิตใหม่ที่รับงานซึ่งไม่ต้องการวุฒิปริญญาตรี อาจตกอยู่ในภาวะ ‘underemployed’ ไป 5 ปี และหลังจากนั้น 5 ปี ความเสี่ยงของงานติดอยู่กับภาวะนี้อยู่ที่ร้อยละ 75

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า มีผู้จบปริญญาตรีในสหรัฐฯ ทำงานที่คุณสมบัติของตนสูงกว่าทักษะของงานร้อยละ 43 ซึ่งไม่ถือว่าน่าประหลาดใจ เพราะสถิติส่วนหนึ่งมาจากตลาดแรงงานช่วงเศรษฐกิจถดถอยเมื่อ 10 ปีก่อน

โดยในขณะนั้นอัตราคนว่างงานอยู่ในระดับสูงถึงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์

ทางแก้ไขภาวะ ‘underemployed’ มีหลายมิติ ด้านหนึ่งอาจจะมาจากการเลือกสาขาเรียนที่มีความต้องการในตลาดแรงงานค่อนข้างมาก เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกรวมกันว่า STEM ศึกษาในสหรัฐฯ

ผู้ทำงานวิจัยพบว่า นักศึกษาด้าน STEM มีโอกาสน้อยกว่านักศึกษาสาขาอื่นๆ ที่จะต้องยอมรับงานที่คุณสมบัติของตนสูงกว่าทักษะของงาน

ขณะเดียวกัน ผู้ที่เรียนสาขาศิลปะศาสตร์ อักษรศาสตร์ และปรัชญา อาจเพิ่มความเป็นที่น่าพึงปรารถนาจากนายจ้าง ด้วยการต่อเติมทักษะข้ามสาขา เช่น คนที่เก่งด้านภาษาอาจเรียนเพิ่มด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก่อนออกหางาน

ที่มาของปัญหา ‘underemployed’ มีทั้งที่มาจากจำนวนคนจบใหม่ที่มากขึ้น และนายจ้างที่ตั้งความหวังไว้สูงสำหรับตำแหน่งงานในปัจจุบัน

อาจารย์ปีเตอร์ คาปเพลลิ จากคณะบริหารธุรกิจ Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย กล่าวว่า ด้านหนึ่ง สถาบันการศึกษาต่างๆ พยายามทำให้การเรียนปริญญาตรีเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลที่ตามมาคือ คนจบปริญญาตรีมีเกลื่อนตลาดแรงงาน และนั่นเพิ่มการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งการจ้างงาน

อีกด้านหนึ่ง นายจ้างเองตั้งระดับคุณสมบัติไว้สูงสำหรับตำแหน่งงานบางหน้าที่ หากเปรียบเทียบกับในอดีต

อาจารย์ คาปเพลลิ ให้ตัวอย่างว่า ในอดีต งานด้านโฆษณามักมีตำแหน่งที่เหมาะสมกับเด็กจบใหม่ แต่ปัจจุบันนายจ้างต้องการผู้ที่มีประสบการณ์เพิ่มเติมจากการมีวุฒิปริญญาตรี

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่า การแข่งขันที่มากขึ้นในกลุ่มบัณฑิตใหม่ จึงผลักดันให้คนบางส่วนต้องรับงานที่ไม่ต้องการใบปริญญา

คำถามที่ตามมาคือ การเรียนปริญญาตรีจำเป็นหรือไม่? โดยเฉพาะเมื่อค่าเล่าเรียนแพงขึ้นเรื่อยๆ ในสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ นิโคล สมิธ จากหน่วยงานด้านตลาดแรงงานของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า งานส่วนใหญ่ในอนาคตที่มีรายได้สูงก็น่าจะยังคงต้องการวุฒิการศึกษาระดับสูงกว่ามัธยมปลาย

อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า หากบัณฑิตจบใหม่ต้องทำงานที่ ‘underemployed’ พวกเขาอาจใช้โอกาสนี้ค้นหาตนเองและสิ่งที่ตนชอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความตั้งใจต่อจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในภายหลังได้

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Pete Musto)

XS
SM
MD
LG