ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนเด็กของสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) เรียกร้องให้มีการเพิ่มการผลิตวัคซีนโควิด-19 และแจกจ่ายให้ครอบคลุมประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO และ เฮนริเอตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารของยูนิเซฟ มีแถลงการณ์ร่วมกันในวันพุธว่า "ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 128 ล้านเข็มทั่วโลก โดยมากกว่า 3 ใน 4 อยู่ใน 10 ประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าผลผลิตมวลรวมคิดเป็น 60% ของจีดีพีทั่วโลก"
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "จนถึงขณะนี้ ยังมีประเทศทั่วโลกอีกเกือบ 130 ประเทศซึ่งมีประชากรรวมกันราว 2,500 ล้านคน ที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มเดียว" และว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและวิถีของผู้คนทั่วโลกเพราะอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ของไวรัสจนดื้อต่อวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างล่าช้าด้วย
เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ ขอร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ มองข้ามเส้นแบ่งพรมแดน และคิดถึงยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนที่สามารถยุติการระบาดและจำกัดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงการฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในทุกประเทศเป็นอันดับแรก
นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่าง ๆ กระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและแบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนให้แก่บริษัทอื่นเพื่อช่วยในการผลิตวัคซีนป้อนความต้องการทั่วโลกด้วย
และในวันพุธเช่นกัน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขผู้ให้คำปรึกษาแก่ WHO ได้จัดทำคำแนะนำให้สามารถใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) กับประชาชนที่อายุเกิน 65 ปีได้ โดยอ้างอิงจากผลการทดสอบและการศึกษาวัคซีนดังกล่าวในหลายประเทศ ที่ยืนยันว่าปลอดภัยต่อคนกลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี