องค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 2 ปีแรก จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในแต่ละปีได้ถึง 820,000 คน
องค์การอนามัยโลกจัดทำนโยบายที่มี 10 ขั้นตอน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก
นอกจากนี้ทางองค์การอนามัยโลก ร่วมกับกองทุนเด็กแห่งสหประชาติ (UNICEF) ยังเปิดโครงการ The Baby-Friendly Initiative เมื่อปี ค.ศ. 1991 มุ่งส่งเสริมให้บรรดาคุณแม่มือใหม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยังมุ่งหวังที่จะขยายโครงการนี้เพื่อผลักดันให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการดูแลทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลทุกๆ แห่งด้วย
Laurence Grummer-Strawn เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาติ กล่าวว่า นโยบาย 10 ขั้นตอนของ WHO นั้น จะช่วยแนะแนวทางในการเลี้ยงดูทารกแก่สถานพยาบาลทุกแห่ง และว่าปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวเพียง 40% เท่านั้น เนื่องจากมีมารดาจำนวนมากที่ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมในการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว
เขาเชื่อว่า การที่ไม่ได้ดื่มน้ำนมแม่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กทารกเสียชีวิต และว่าอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พอๆ กับอัตราการเสียชีวิตในเด็ก เนื่องจากไม่ได้รับโภชนาการอย่างพอเพียง โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย ดังนั้นควรให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมมารดา เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้
เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขชี้ว่า น้ำนมแม่มีคุณประโยชน์มากมาย เช่นป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด, ลดอัตราการเสียชีวิต, พัฒนาระดับสติปัญญา (IQ), เตรียมความพร้อมในการเข้าโรงเรียน, ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนในเด็กและวัยรุ่น
นอกจากนี้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยให้คุณแม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมลดลงอีกด้วย