สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เตรียมจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จำนวน 100 ล้านโดส ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ภายในสิ้นเดือนหน้า
การจัดส่งวัคซีนโควิดชุดแรกที่ผลิตในจีนนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งล่าช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปีนี้ถึง 2,000 ล้านโดส สืบเนื่องจากข้อจำกัดด้านปริมาณวัคซีนและการควบคุมการส่งออกของผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ คืออินเดีย
วัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวค คือส่วนหนึ่งของ "การทูตวัคซีน" ของรัฐบาลจีน แม้มีความกังวลต่อประสิทธิผลของวัคซีนนี้จนหลายประเทศปฏิเสธไม่ยอมรับ หรือนำไปฉีดไขว้กับวัคซีนของชาติตะวันตกเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของวัคซีนดังกล่าว
เอกสารของ WHO ที่เปิดเผยโดยรอยเตอร์ ระบุว่า ในจำนวนวัคซีน 100 ล้านโดสที่เตรียมจัดส่งนี้ เป็นวัคซีนของซิโนฟาร์มและซิโนแวคอย่างละครึ่ง โดยกำหนดไว้ว่าจะแจกจ่ายระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
โฆษกขององค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศว่าด้วยวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ Global Alliance for Vaccines and Immunization (GAVI) ซึ่งเป็นผู้นำของโครงการโคแวกซ์ ร่วมกับ WHO กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ได้มีการจัดส่งวัคซีนของซิโนฟาร์มไปแล้ว 10 ล้านโดสเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม
จนถึงขณะนี้ วัคซีนโควิดที่ผลิตในจีนได้แจกจ่ายไปแล้วใน 60 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย
ไม่ใช่ทุกประเทศที่ยอมรับวัคซีนของจีน
แอฟริกาใต้ คือหนึ่งในประเทศในแอฟริกาที่จะได้รับวัคซีนของซิโนแวคมากที่สุดที่จำนวน 2.5 ล้านโดส แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ขณะนี้แอฟริกาใต้ไม่สามารถยอมรับวัคซีนของซิโนแวคได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนซิโนแวคต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา รวมทั้งไม่มีข้อมูลของประสิทธิผลสำหรับประชากรกลุ่มที่ติดเชื้อเอชไอวี
ส่วนไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศที่รับวัคซีนจากซิโนฟาร์มเกือบ 8 ล้านโดสภายใต้โครงการโคแวกซ์ ได้รับรองวัคซีนดังกล่าวที่อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกของประชาชนไนจีเรีย ขณะที่ เคนยา รวันดา โตโกและโซมาเลีย ล้วนยืนยันว่าไม่มีความกังวลต่อวัคซีนที่ผลิตในจีนแต่อย่างใด
ในเอเชีย คาดว่าหลายประเทศจะได้รับวัคซีนที่ผลิตในจีนเป็นจำนวนมากกว่า 25 ล้านดดส โดยในจำนวนนี้เกือบ 11 ล้านโดสจะส่งให้กับอินโดนีเซียซึ่งจะถือเป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนของจีนผ่านโครงการโคแวกซ์มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียตัดสินใจฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยใช้วัคซีนของโมเดอร์นา (Moderna) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ หลังจากที่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวคไปแล้วสองเข็ม เช่นเดียวกับหลายประเทศ เช่น บราซิล ชิลี และไทย ที่ใช้วิธีฉีดไขว้กับวัคซีนของชาติตะวันตกให้บรรดาบุคลากรการแพทย์เช่นกัน
(ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์)