ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนเผชิญแรงกดดันจากประชาคมโลกเกี่ยวกับที่มาของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่


please wait

No media source currently available

0:00 0:04:20 0:00

การประชุมขององค์การอนามัยโลกที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 นี้ จีนน่าจะต้องเตรียมตัวรับมือกับประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกต้องการคำตอบ คือ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่มีต้นกำเนิดมาจากที่ใด ซึ่งเป็นคำถามที่ชี้กลับไปที่จีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีรายงานการระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว

สหรัฐฯ คือประเทศแรกที่เริ่มชี้นิ้วไปจีน ด้วยคำกล่าวอ้างที่ว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ หลุดรอดมาจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ที่เป็นแหล่งการระบาดแรกของโลก ก่อนที่สหภาพยุโรปและออสเตรเลียจะตั้งข้อสงสัยและเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่มาของไวรัส พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนข้อเสนอนี้

การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของสหรัฐฯ และพันธมิตรที่จะชักจูงนานาประเทศมายืนเคียงข้าง เพื่อต่อต้านจีนที่เริ่มมีคนตั้งข้อสงสัยหนักเกี่ยวกับระบบการปกครองแบบลัทธิอำนาจนิยมในการควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 310,000 ราย และทำลายเศรษฐกิจทั่วโลกไปแล้ว

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า จีนจะยังคงสามารถเรียกแรงหนุนจากรัฐบาลหลายแห่ง ในการประชุมที่มีตัวแทนจากเกือบ 200 ประเทศเข้าร่วมนี้ที่ยังต้องพึ่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในการสนับสนุนการฟื้นตัวในประเทศของตน ขณะที่เสียงวิจารณ์การทำงานขององค์การอนามัยโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นโต้โผนั้น คงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดๆ

แต่สำหรับกรณีของกระแสความไม่พอใจต่อการรับมือการระบาดของจีนนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการประชุมนี้ เพราะแม้บางฝ่ายอาจไม่สนใจต่อข้อกล่าวหาว่าจีนปกปิดที่มาที่ไปและตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 การที่รัฐบาลจีนออกมาโต้ตอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยท่าทีที่รุนแรงนั้นกลับทำให้หลายประเทศเริ่มไม่สบายใจ

ประเทศที่เป็นจุดสนใจของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นออสเตรเลีย ที่ถูกจีนขู่คว่ำบาตรสินค้าออสเตรเลียขณะที่สั่งระงับการนำเข้าเนื้อสัตว์จากโรงงานหลัก 4 แห่งของออสเตรเลียไปแล้วด้วยข้ออ้างเรื่องการละเมิดกฎเกณฑ์บางรายการ โดยรัฐบาลกรุงแคนเบอร์ราเรียกสิ่งที่จีนทำว่าเป็น “การขู่กรรโชกทางเศรษฐกิจ” และยืนยันจุดยืนที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนต้นตอของไวรัสต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้ร่างข้อเสนอสำหรับการประชุมที่มีการเรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานอิสระเพื่อทบทวนบทเรียนที่ได้จากกระบวนการสาธารณสุขโลกในการรับมือกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่แล้ว

นอกจากประเด็นโควิด-19 แล้ว การที่สหรัฐฯ และพันธมิตรผลักดันให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ด้วยเหตุผลที่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดได้ และจุดประสงค์ที่ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ยิ่งทำให้จีนไม่พอใจหนัก เนื่องจากรัฐบาลกรุงปักกิ่งย้ำมาเสมอว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และห้ามแยกตัวออกไป

ประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน ของไต้หวันเองออกมาเสนอให้องค์การอนามัยโลกเชิญตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมประชุม แต่ เทดรอส เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ไม่มีคำสั่งที่จะเชิญไต้หวันเข้าร่วมด้วยเหตุผลว่า “ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่ชัดเจน” จากประเทศสมาชิก แม้ว่าจะมีประเทศสมาชิก 13 ประเทศเรียกร้องประเด็นนี้ก็ตาม

ทางฝั่งรัฐบาลจีนเอง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ จ้าว ลี่เจียน กล่าวว่า จีนมีจุดยืนที่มั่นคงที่จะปฏิเสธข้อเสนอจากนานาชาติให้เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุม พร้อมโต้ว่า การเรียกร้องให้มีการสอบสวนอิสระกรณีที่มาของไวรัสนั้นเป็นแค่ “กลอุบายทางการเมือง”

คาริส เทมเปิลแมน ที่ปรึกษาโครงการเกี่ยวกับไต้หวันในอินโด-แปซิฟิค ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เชื่อว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่น่าจะไม่ยอมให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม เพราะไม่มีใครต้องการจะเสี่ยงผิดใจกับจีนนั่นเอง

XS
SM
MD
LG