องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่า ความเสียหายของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 น่าจะสูงถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 ปีจากนี้ และคนกว่า 34 ล้านคนทั่วโลกจะต้องตกอยู่ในภาวะยากจนหนักหากไม่มีการเตรียมการใดๆ ได้ทันท่วงที
เอลเลียต แฮร์ริส นักเศรษฐศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้าย ซึ่งก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วง the Great Depression ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำที่รุนแรงที่สุดในโลก เริ่มในสหรัฐฯ ก่อนจะกระจายไปทั่วโลกในปี ค.ศ.1929
ในรายงาน World Economic Situation and Prospects ขององค์การสหประชาชาติ มีการประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวราว 3.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้และอาจจะฟื้นตัวพอประมาณในปีหน้า ขณะที่ระดับการค้าโลกจะลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขที่หายไปทั้งหมดนี้ เป็นการลบล้างการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วง 4 ปีก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง
แฮร์ริส ระบุว่า วิกฤติคู่ขนานทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายทั่วโลกต้องพบกับความยากลำบากในการทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการควบคุมการระบาดใหญ่ขณะที่พยายามจำกัดผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของตน
เขากล่าวด้วยว่า วิกฤติการระบาดส่งผลกระทบหนักต่อการค้าสินค้าโภคภัณฑ์และธุรกิจการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการขนส่งและภาคการผลิต ที่ทำให้คนหลายล้านคนทั่วโลกกลายเป็นคนว่างงานในเวลาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้องค์การสหประชาชาติประเมินว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะมีคนกว่า 34 ล้านคนเข้าอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนตามหลักสากล ซึ่งหมายถึงคนที่มีรายได้วันละไม่ถึง 1.90 ดอลลาร์ และในภาวะที่เลวร้ายที่สุด จำนวนคนยากจนทั่วโลกนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 160 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2030
ฮามิด ราชิด หัวหน้าทีมสังเกตการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกและทีมจัดทำรายงานนี้ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า โลกจะต้องพร้อมรับกับ new normal หรือ ความปรกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป ถ้าหากไม่มีการค้นพบวัคซีนและการรักษาการติดเชื้อไวรัสนี้ที่มีประสิทธิภาพจริงโดยเร็ว แม้ว่านานาประเทศจะเร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี สำหรับประเทศร่ำรวย หรือ 0.5 ถึง 1.0 เปอร์เซ็นต์สำหรับประเทศที่ยากจนกว่า
ราชิด ย้ำด้วยว่า การวางแผนโครงสร้างกระบวนการฟื้นตัวนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และวิกฤติครั้งนี้ควรเป็นโอกาสให้ทั่วโลกวางแผนสร้างความยืดหยุ่นของประเทศในการรับมือแรงกระตุกทางเศรษฐกิจและภาวะการระบาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งควรมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคม การลดความไม่เท่าเทียมกันในหมู่ประชาชน และตระหนักถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย
นอกจากประเด็นเศรษฐกิจแล้ว อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่มีคนหลายล้านประสบปัญหาภาวะบีบคั้นทางจิตใจ (psychological distress) อันเนื่องมาจาก ความกลัว ความเหงา และปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเพราะการระบาดของโควิด-19
ผลสำรวจสภาพจิตใจคนทั่วโลกโดยองค์การสหประชาชาติพบว่า ภาวะบีบคั้นที่ว่านี้กำลังแพร่กระจายไปทั่วและบางประเทศมีสัดส่วนผู้ป่วยสูงเป็นพิเศษ เช่น จีนที่มีคนอยู่ในภาวะดังกล่าวถึง 35 เปอร์เซ็นต์ หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ในอิหร่าน ขณะที่ชาวอเมริกันถึง 45 เปอร์เซ็นต์ประสบปัญหานี้เช่นกัน
เดโวรา เคสเทน ผู้อำนวยการแผนสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ขณะที่วิกฤติโควิด-19 ยังดำเนินอยู่นี้ ทุกฝ่ายควรเริ่มลงมือเตรียมการป้องกันไม่ให้สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเลวร้ายลงกว่านี้ในอนาคต โดยเคสเทน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า WHO ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มานานนับปีแล้วเพื่อช่วยให้บุคลากรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตมีความสามารถที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยดูแลผู้ที่มีปัญหามากขึ้น
ทั้งนี้ องค์การสหประชาติระบุว่า ผลกระทบทางสภาพจิตทั้งหมดนี้จะยังคงอยู่ต่อไปแม้หลังวิกฤติโควิด-19 จางหาย ดังนั้น ทุกๆ ประเทศควรทำการปฏิรูป ลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบการแพทย์สำหรับปัญหาสุขภาพจิต เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถฟื้นตัวจากสถานการณ์อันเลวร้ายต่างๆ ได้ง่ายขึ้น