หากวิกฤตหนี้ภาครัฐของอเมริกาไม่ได้รับการแก้ไขก่อนเส้นตาย 1 มิถุนายนนี้ สิ่งที่จะได้เห็นอันดับแรก คือ การที่รัฐบาลวอชิงตันจะนำพาสหรัฐฯ พุ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ทว่าเศรษฐกิจอเมริกันจะไม่ดำดิ่งอย่างเดียวดาย
ผลกระทบของการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกของอเมริกาจะสั่นสะเทือนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของจีนในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มายังสหรัฐฯ จะหดหายแห้งเหือดไป นักลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ที่เคยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจเผชิญกับการขาดทุนมหาศาล บริษัทศรีลังกาอาจไม่สามารถใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทางเลือกหลบภัยค่าเงินของตนได้อีกต่อไป
มาร์ค ซานดิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics ฟันธงว่า หากรัฐบาลอเมริกันผิดชำระหนี้ภาครัฐและวิกฤตนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว “ไม่มีส่วนไหนของเศรษฐกิจโลกที่จะรอดพ้นจากผลกระทบนี้ได้”
ซานดิ จาก Moody’s Analytics ชี้ว่า แม้สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ไม่เกินสัปดาห์เดียวก็ตาม แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอ่อนแอลงอย่างมากและรวดเร็ว และจะทำให้ตำแหน่งงานราว 1.5 ล้านตำแหน่งหายไปในทันที
และหากการผิดนัดชำระหนี้กินเวลายาวนานกว่านั้น คือไปจนถึงฤดูร้อนปีนี้ ผลกระทบจะรุนแรงขึ้นไปอีก
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics พบในการวิเคราะห์ของเขาว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะดิ่งลง ตำแหน่งงาน 7.8 ล้านตำแหน่งจะหายไป อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะพุ่งสูงขึ้น อัตราการว่างงานจะพุ่งจากระดับปัจจุบันที่ 3.4% ไปถึงระดับ 8% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะดิ่งลงอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้ความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนอเมริกันราว 10 ล้านล้านดอลลาร์หายวับไปกับตา
แน่นอนว่าคงไม่มีใครปล่อยให้ไปถึงจุดนั้น ทางทำเนียบขาวและฝั่งรีพับลิกันในสภาล่าง ต่างหาทางออกให้กับปัญหาหนี้ภาครัฐกันอยู่ ทั้งการหารือที่เริ่มต้นตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาดำเนินต่อมาถึงค่ำวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐฯ ฝั่งรีพับลิกันในสภาล่างขู่ว่าจะปล่อยให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ จนกว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะยอมรับการปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐตามที่เสนอไป
ความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่บนความจริงที่ว่ากิจกรรมทางการเงินต่าง ๆ ตั้งบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่าอเมริกาสามารถชำระหนี้ผูกพันได้อยู่เสมอ หนี้ภาครัฐของอเมริกาถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสูงมาโดยตลอด เป็นพื้นฐานของระบบการค้าโลกที่สหรัฐฯ สั่งสมความน่าเชื่อถือมายาวนาน การผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอเมริกันอาจทำให้ตลาดตราสารหนี้มูลค่า 24 ล้านล้านดอลลาร์พังครืนได้ ส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนชะงักงันและจุดวิกฤตการเงินระหว่างประเทศขึ้นมา
เอสวาร์ พราซาด อาจารย์ด้านนโยบายการค้าจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และนักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Brookings ให้ทัศนะกับเอพีว่า “การผิดนัดชำระหนี้ถือเป็นตัวกระตุ้น พร้อมกับผลกระทบที่รุนแรงอย่างคาดเดาไม่ได้กับตลาดเงินสหรัฐฯ และทั่วโลก”
ภัยคุกคามด้านเศรษฐกิจโลก เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเศรษฐกิจโลกเพิ่งจะเจอปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง อันเป็นผลสืบเนื่องจากการบุกยูเครนของรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น หลายประเทศเริ่มคลางแคลงใจถึงบทบาทของอเมริกาในเวทีการเงินโลกมากขึ้นในปัจจุบัน
ในอดีตผู้นำด้านการเมืองอเมริกันจะสามารถหลีกหนีการผิดชำระหนี้และปรับขึ้นเพดานหนี้ได้ทันท่วงที โดยสภาคองเกรสได้ปรับแก้ ปรับขึ้น และขยายกรอบเพดานหนี้มาแล้วถึง 78 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 1980 และครั้งล่าสุดที่ปรับเพดานหนี้ภาครัฐ คือ เมื่อปี 2021
แต่ครั้งนี้สถานการณ์เลวร้ายกว่าก่อน เมื่อมีการแบ่งแยกทางการเมืองในสภาคองเกรสมากขึ้นในระหว่างที่ภาระหนี้พุ่งสูงจากการปรับเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการปรับลดภาษีจำนวนมาก ทางรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แจเน็ต เยลเลน ได้เตือนว่ารัฐบาลอเมริกันอาจผิดชำระหนี้ได้เร็วที่สุดคือ 1 มิถุนายนนี้ หากไม่สามารถขึ้นหรือยกเลิกเพดานหนี้ได้ทัน
คลื่นลูกใหญ่ในระบบการเงินโลก
มอรีส ออบส์เฟลด์ จาก Peterson Institute for International Economics และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้ทัศนะกับเอพีว่า “หากความน่าเชื่อถือของ (พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ) หยุดลงไปด้วยเหตุผลบางอย่าง อาจส่งคลื่นช็อคลูกใหญ่ต่อระบบการเงินโลก และผลกระทบรุนแรงของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกได้”
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเป็นหลักประกันการกู้ยืม เป็นเกราะป้องกันการสูญเสียของภาคธนาคาร และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสูงท่ามกลางความผันผวนในตลาดโลก
เมื่อมองในแง่ของความปลอดภัย หนี้ภาครัฐของรัฐบาลอเมริกัน – ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร และธนบัตร – ไม่ได้แบกรับความเสี่ยงใด ๆ ภายใต้ระเบียบการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างชาติและนักลงทุนถือครองหนี้ก้อนดังกล่าวเกือบ 7.63 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 31% ในตลาดเงินโลก
เนื่องด้วยอิทธิพลของค่าเงินดอลลาร์ได้ทำให้ค่าเงินนี้เป็นค่าเงินชั้นนำนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นเรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะกู้ยืมเงินมาชำระหนี้ภาครัฐที่กองท่วมได้
แต่ความต้องการค่าเงินดอลลาร์ที่สูง ยังทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีมูลค่ามากกว่าค่าเงินอื่น ๆ และนั่นนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงเช่นกัน คือ เมื่อค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า สินค้าอเมริกันจะแพงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งต่างชาติ ทำให้ผู้ส่งออกอเมริกันเสียเปรียบ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำให้อเมริกาจึงขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 1975
คลังเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางทั่วโลก
เมื่อส่องไปที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ จะพบว่าธนาคารกลางทั่วโลก มีสกุลเงินดอลลาร์ 58% รองลงมาคือยูโร 20% และค่าเงินหยวนอยู่ที่ 3% อ้างอิงข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ
นักวิจัยจากระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ ระบุว่าในช่วงปี 1999-2019 96% ของการค้าในทวีปอเมริกาเป็นไปในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์ เช่นเดียวกับการค้าในเอเชียที่ 74% ใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลาง ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นอกยุโรป 79% ยังทำการค้าด้วยสกุลเงินดอลลาร์
ในประเทศที่ค่าเงินผันผวน ยังใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการทำธุรกรรมเป็นหลักอย่างเช่นศรีลังกา ที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และค่าเงินท้องถิ่นผันผวนหนัก เช่นเดียวกับที่เลบานอนที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อและค่าเงินอ่อนค่าหนัก ก็หันมาใช้ค่าเงินดอลลาร์แทน และย้อนกลับไปเมื่อปี 2000 เอกวาดอร์รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจด้วยการเปลี่ยนมาใช้ค่าเงินดอลลาร์แทนสกุลเงินของตนนับแต่นั้น
ผู้ลงทุนยังเลือกดอลลาร์
แม้ว่าวิกฤตจะเริ่มต้นจากสหรัฐฯ แต่ค่าเงินดอลลาร์ยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยสำหรับผู้ลงทุนอยู่เสมอ และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตการเงินปลายปี 2008 ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์อเมริกันพังคืน ส่งผลให้สถาบันการเงินรายร้อยแห่งล่มสลาย รวมทั้งเลห์แมน บราเธอร์ส แต่กลายเป็นว่าค่าเงินดอลลาร์กลับดีดตัวสูงขึ้น
เคลย์ ลาวรี จาก Institute of International Finance ให้ทัศนะกับเอพีว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตัวปัญหาก็ตาม แต่เงินดอลลาร์ยังคงเป็นสกุลเงินชั้นนำอยู่ดี
ซานดิ จาก Moody’s Analytics ให้ความเห็นที่สอดรับกันว่า หากสหรัฐฯ มีระดับหนี้ทะลุเพดานไปโดยไม่ได้จัดการปัญหานี้และทางกระทรวงการคลังผิดชำระหนี้แล้ว ค่าเงินดอลลาร์จะยังปรับตัวขึ้นไปได้อยู่ในช่วงแรก “เพราะความผันผวนและความกังวลในตลาดเงินตลาดทุน ผู้ลงทุนทั่วโลกจะยังไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปทางไหน และจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงวิกฤต และนั่นคือสหรัฐฯ”
แต่ตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้อาจจะเป็นอัมพาตไปอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ลงทุนจะย้ายเงินทุนมายังกองทุนการเงินของสหรัฐฯ หรือตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะบีบให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในที่สุด
แล้วรัฐบาลอเมริกันมีกลยุทธ์รับมืออย่างไร?
ลาวรี ซึ่งมีบทบาทผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังช่วงวิกฤตการเงินปี 2008 ให้มุมมองว่าภายใต้วิกฤตหนี้ภาครัฐ สหรัฐฯ จะยังสามารถชำระดอกเบี้ยให้กับผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลอยู่ และต้องชำระภาระผูกพันอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างเช่น ภาระหนี้ที่ต้องชำระ 3 มิถุนายนนี้ รัฐบาลอาจต้องเลื่อนไปจ่ายวันที่ 5 มิถุนายน และจะเริ่มผ่อนคลายลงไปในช่วงวันที่ 15 มิถุนายน นั่นคือช่วงที่รายรับรัฐบาลจะเข้ามาจากกลุ่มผู้เสียภาษีที่จ่ายภาษีประเมินล่วงหน้าในไตรมาส 2 แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ จะเกิดการฟ้องร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการผิดชำระหนี้ และบริษัทเครดิตเรตติ้งอาจปรับลดความน่าเชื่อถือของหนี้สหรัฐฯ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ก็ตามที
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ ที่ยังมีอิทธิพลในตลาดโลก แต่เริ่มสูญเสียโมเมนตัมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากที่ธนาคารและภาคธุรกิจเริ่มหันไปพึ่งสกุลเงินยูโรและค่าเงินหยวน ประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มเห็นความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ที่อาจกระทบค่าเงินและเศรษฐกิจประเทศของตนมากขึ้น
ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าอาจทำให้เกิดวิกฤตการเงินในต่างประเทศได้ จากการที่ผู้ลงทุนย้ายสินทรัพย์จากประเทศอื่นเข้ามาลงทุน และเพิ่มต้นทุนการชำระหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ และการเดินหน้าใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ด้วยสกุลเงินดอลลาร์ก็เป็นสิ่งที่บางประเทศไม่สะดวกใจที่จะบังคับใช้นัก
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีทางเลือกอื่นใดที่ชัดเจนออกมาว่าจะทดแทนค่าเงินดอลลาร์ได้ เพราะค่าเงินยูโรยังแข็งแกร่งไม่เท่าดอลลาร์ เช่นเดียวกับค่าเงินหยวน ที่รัฐบาลปักกิ่งยังไม่ไฟเขียวให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเสรีในตลาดโลก
แต่ดราม่าเพดานหนี้สหรัฐฯ ได้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับอำนาจทางการเงินอันมหาศาลของสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์อย่างไม่ต้องสงสัย ออบส์เฟลด์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมากในตอนนี้” และ “การโยนวิกฤต (เพดานหนี้) เข้าไปในกองวิกฤตบนความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ จึงถือเป็นความที่ไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง”
- ที่มา: เอพี