ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสหรัฐฯ ค้างชำระหนี้?


รัฐบาลสหรัฐฯ อาจตกในภาวะค้างชำระรายจ่ายหรือเป็นหนี้ในเดือนหน้า หากสภาคองเกรสไม่เพิ่มเพดานหนี้ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจและสร้างความตื่นตระหนกในตลาดการเงินโลกได้

รอยเตอร์สรุปไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ ไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดได้ ตามข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่า เงินสดสำรองที่มีอาจหมดได้เร็วที่สุดภายในวันที่ 1 มิถุนายน รวมทั้งข้อมูลรายการชำระเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่รวมรวบโดยศูนย์ Bipartisan Policy Center ในกรุงวอชิงตัน

1 มิถุนายน

เงินสดสำรองของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะหมดลง และทำให้สหรัฐฯ แตะเพดานหนี้ โดยรายได้จากภาษีมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ในวันดังกล่าว ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมภาระใช้จ่ายของรัฐบาลมูลค่า 101,000 ล้านดอลลาร์ได้

หากกระทรวงการคลังใช้แผนเดิมเมื่อปี 2011 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่สหรัฐฯ เคยเกือบผิดนัดชำระหนี้ ทางกระทรวงจะไม่เลือกชำระหนี้ก้อนใดก้อนหนึ่ง แต่จะรอจนกว่าจะมีเงินเก็บมากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายของรัฐในวันนั้น ๆ

หากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ที่รอรับการชำระเงินจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ให้บริการด้านการแพทย์จะได้รับผลจากการที่โครงการเมดิแคร์ หรือ โครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุของรัฐบาล จะไม่ได้รับงบ 47,000 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับทหารที่จะไม่มีรายได้จากรัฐบาล

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอาจยืมเงินจากตลาดทุนสหรัฐฯ เพื่อนำไปชำระเงินต้นที่จะถึงกำหนดจ่ายในวันที่ 1 มิ..ย. เพื่อให้สหรัฐฯ ยังอยู่ใต้เพดานหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากบรรดานักลงทุนไม่ให้กระทรวงการคลังยืมเงินเพราะกังวลว่าอาจไม่ได้เงินคืน สหรัฐฯ จะไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ เข้าสู่ภาวะเป็นหนี้ และส่งผลต่อระบบการเงินทั้งโลก

2 มิถุนายน

แม้สหรัฐฯ อาจชำระหนี้ได้ตามกำหนด แต่ก็อาจทำให้ตลาดหุ้นติดลบเกือบยกแผง และจะส่งแรงกดดันต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และประธานสภาผู้เเทนราษฎรเควิน เเมคคาร์ธี จากพรรครีพับลิกัน ให้ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว


ทั้งนี้ พรรครีพับลิกันที่ถือเสียงข้างมากในสภาล่างสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการลดรายจ่ายภาครัฐอย่างหนัก เพื่อแลกกับการที่ทางพรรคจะสนับสนุนการขยับเพดานหนี้

หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถหาข้อยุติได้ สหรัฐฯ ก็จะไม่สามารถชำระเงินต่อไปได้อีกวัน และจะส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในประเทศ เช่น ผู้ที่เกษียณอายุและผู้รับผลประโยชน์จากประกันสังคมจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่มีมูลค่าโดยรวม 25,000 ล้านดอลลาร์ และรัฐต่าง ๆ จะไม่ได้รับชำระเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ติดค้างในโครงการเมดิเคด หรือโครงการประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ

US debt ceiling prediction infographic
US debt ceiling prediction infographic

6 มิถุนายน


บริษัทผู้ผลิตอาวุธ และบริษัทอื่น ๆ ที่ผลิตอุปกรณ์ให้กองทัพสหรัฐฯ จะไม่สามารถรับเงินค้างชำระ 2,000 ล้านดอลลาร์ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้​

7 มิถุนายน

หลังเกิดวิกฤตหนี้หนึ่งสัปดาห์ รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเริ่มหาทางทยอยชำระเงินได้ โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต้องเก็บรายได้จากภาษีให้ได้ราว 111,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ติดค้างมาตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังมีรายจ่ายที่จะถึงกำหนดชำระอีกมาก โดยชาวอเมริกันที่รอรับเงินคืนภาษีมูลค่ารวม 1,000 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 7 มิ.ย. อาจยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืน
8 มิถุนายน

ระบบการศึกษาของรัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น จะไม่ได้รับเงินทุนตามแผนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ รัฐบาลจะค้างชำระหนี้ประกันสุขภาพมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ

15 มิถุนายน

ถึงกำหนดที่กระทรวงการคลังต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 ล้านดอลลาร์ให้นักลงทุนที่ลงทุนกับรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เคยเกือบผิดชำระหนี้เช่นกัน กระทรวงการคลังเคยกล่าว ณ ขณะนั้นว่า หากสหรัฐฯ ค้างชำระหนี้จริง ทางกระทรวงอาจให้ความสำคัญต่อการจ่ายดอกเบี้ยให้นักลงทุนเป็นอันดับแรก

ในวันที่ 15 มิ.ย. กระทรวงการคลังอาจมีรายได้จากภาษีธุรกิจมากพอที่จะชำระหนี้ แต่ก็ยังคงไม่มากพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายอื่น ๆ ที่มีกำหนดชำระในวันดังกล่าว เช่น เงินเดือนเจ้าหน้าที่กองทัพ

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG