อนุสาวรีย์วอชิงตัน หรือ Washington Monument ที่สร้างเพื่อเป็นเกียรติแก่จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ตั้งตระหง่านบริเวณ National Mall หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญในกรุงวอชิงตัน กลับมาเปิดให้เข้าชมด้านในอีกครั้งหลังจากปิดปรับปรุงไปกว่า 3 ปี โดยมีนักท่องเที่ยวต่างเฝ้ารอที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ด้านในอนุสาวรีย์แห่งนี้ บ้างก็ได้เช้าชมแล้ว และบางคนก็ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่จะได้ชมบรรยากาศจุดสูงสุดในกรุงวอชิงตัน
ทีมนักฟุตบอลหญิงจากโรงเรียนมัธยมในแอริโซนา เดินทางมาทัศนศึกษาที่อนุสาวรีย์วอชิงตันกันตั้งแต่เช้าตรู่ โดยทุกคนต่างประทับใจที่ได้มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์อเมริกันมากขึ้นที่นี่
ด้านคุณแคริน โกลว์เดน อาจารย์จากนอร์ท แคโรไลนา ที่แม้จะไม่ได้เข้าไปชมด้านในอนุสาวรีย์วอชิงตัน แต่ก็ไม่ถอดใจ เพราะถือว่าการมาเยือนอนุสาวรีย์วอชิงตันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในอเมริกาซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงเวลาที่มีความท้าทายอย่างมาก
อนุสาวรีย์วอชิงตัน หรือที่เราเรียกชื่อเล่นกันว่าเสาดินสอ เป็นอาคารแท่งโอเบลิสก์ทำด้วยหินอ่อน หินแกรนิต และหินทรายมาเรียงซ้อนกันจนได้ความสูง 555 ฟุต หรือ 169 เมตร เรียกได้ว่ายังคงเป็นสถาปัตยกรรมที่สูงสุดที่สุดในกรุงวอชิงตันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาคารนี้ได้รับการปรับปรุงหลายครั้งตลอด 10 ปีมานี้ ตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวขนาด 5.8 เมื่อปี ค.ศ. 2011 จนมารอบล่าสุดในปี ค.ศ. 2016 ก่อนจะกลับมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา
คุณไมค์ ลิทเทอเรส (Mike Litterst) เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ (National Park Service Public Affairs Specialist) ที่ดูแลบริเวณ National Mall ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า สิ่งที่ปรับเปลี่ยนไป คือ การปรับปรุงระบบลิฟต์และเพิ่มระบบการรักษาความปลอดภัย และปรับปรุงพื้นที่ภายในให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น
ถือเป็นความพิเศษของทีมงานวีโอเอภาคภาษาไทย เพราะนอกจากจะได้ขึ้นมาชมบรรยากาศแบบ 360 องศาจากยอดสูงสุดด้านในอนุสาวรีย์ และระหว่างการพูดคุยถึงการปรับปรุงอนุสาวรีย์แห่งนี้ VOA Thai ได้สอบถามถึงหินสลักจากประเทศไทย ซึ่งได้คำตอบว่า
คุณไมค์ยืนยันการมีอยู่ของหินที่ระลึกจากประเทศไทย ซึ่งถูกเรียกว่า “สยาม” ในยุคนั้น ที่ถูกส่งมาเป็นส่วนหนึ่งในอนุสาวรีย์วอชิงตัน เฉกเช่นหินจากรัฐต่างๆทั่วอเมริกา และจากหลายสิบประเทศทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นคุณไมค์ยังช่วยตอบสิ่งที่ค้างคาใจเราด้วยการพาลงไปดูให้เห็นกับตา
หินสลักที่ระลึกจากประเทศไทย ติดตั้งอยู่ในโซนที่ ‘ปิดเป็นการเฉพาะ’ ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมมาราว 40 ปี หรือ ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 จนถึงปัจจุบัน และทางเดียวที่จะเข้าถึงหินสลักได้ คือการเดินเท้าจากขั้นบันได 897 ขั้นในอนุสาวรีย์นั่นคือเท่ากับอาคาร 56 ชั้นเท่านั้นเอง
เราลัดเลาะลงบันไดมาจากยอดบนสุดที่ชั้นความสูง 500 ฟุต ระหว่างทางมีแผ่นหินที่ระลึกจากหลายรัฐ หลายประเทศ และจากองค์กรสมาคมต่างๆ ที่ส่งแผ่นหินมาร่วมแสดงความยินดีและเป็นส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์วอชิงตัน หินแต่ละแผ่นช่วยบอกเรื่องราวในประวัติศาสตร์อเมริกันได้ดี
จนกระทั่งเมื่อเรามาถึงชั้นความสูงที่ 190 ฟุต ได้พบกับแผ่นหินที่จารึกคำว่า ‘SIAM.’ จากประเทศไทย ร่วมกับแผ่นหินจากประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล ตุรกี กรีซ และสวิสเซอร์แลนด์ บนผนังเดียวกัน
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเอกสารและข้อมูลจากสำนักอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ พบว่า ราชสำนักสยามได้ส่งหินมาร่วมแสดงความยินดีและเป็นที่ระลึกการก่อสร้างอนุสาวรีย์เมื่อปี พ.ศ. 2425โดยมีข้อมูลระบุว่าเป็นหินตัดที่มาจากแหล่งหินของราชสำนักที่โคราช แต่น่าเสียดายที่พบว่าหินที่ส่งมานั้นมีขนาดเล็ก เพราะความกว้างเพียง 6 นิ้วและความยาว 11 นิ้วเท่านั่น ดังนั้นทางการสหรัฐฯจึงตัดสินใจจัดทำหินจำลองขึ้นและ จารึกชื่อ สยาม ชิ้นนี้ขึ้นมาแทน ก่อนจะติดตั้งในปี พ.ศ. 2428 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของสองประเทศในอนุสาวรีย์วอชิงตัน
Washington Monument อนุสรณ์สถานเพื่อเป็นเกียรติแก่จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาและสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดในนครหลวงของสหรัฐฯ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ โดยผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชมให้ตื่นเช้ามาเข้าแถวรับบัตรคิวก่อนเวลา 8.30 น. แต่ถ้าไม่อยากเสียเวลาแนะนำให้เข้าไปจองตั๋วเข้าชมผ่านทางเว็บไซต์ www.recreation.gov โดยจะมีค่าธรรมเนียม 1 ดอลลาร์ หรือราว 30 บาทต่อคน