ตอนนี้หลายพื้นที่ในอเมริกา ต้องรับมือกับกลโกงทางโทรศัพท์รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่าขบวนการ Virtual Kidnapping ที่เหล่ามิจฉาชีพปลอมแปลงเบอร์โทรศัพท์ เพื่อหลอกให้เหยื่อที่อยู่ปลายสายซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจว่าบุตรหลานหรือบุคคลอันเป็นที่รักกำลังตกอยู่ในอันตรายจากแก๊งค์ลักพาตัว และด้วยเวลาอันจำกัดในการสนทนา ทำให้เหยื่อไม่มีทางเลือกใดนอกจากโอนเงินให้มิจฉาชีพเหล่านี้ไป ก่อนที่จะพบว่าเหตุระทึกขวัญดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริงๆ
แมทธิว ฮอร์ตัน หัวหน้าหน่วยอาชญากรรมระหว่างประเทศของ FBI ที่ติดตามคดี Virtual Kidnapping ในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า Virtual Kidnapping เกิดขึ้นเมื่อช่วง 2-3 ปีมานี้และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่หาเงินได้เร็วและง่าย แต่ยากต่อการติดตามโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมาย
ขบวนการ Virtual Kidnapping จะใช้การสื่อสารทางเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น Skype ปลอมแปลงเลขหมายต้นทางให้เป็นเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลใกล้ชิดของเหยื่อ และสุ่มโทรหาเป้าหมายผ่านการค้นหาข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อหลอกเงินจากเหยื่อด้วยวิธีการหลากหลาย อย่างการลักพาตัว ที่เหยื่อบางรายให้การว่าได้ยินเสียงกรีดร้องของเด็ก จึงคิดว่าเป็นลูกหลานของตน หรือสร้างเรื่องให้โอนเงินประกันตัวบุตรหลานของเหยื่อ
กว่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องโกหก เหยื่อก็สูญเสียเงินหลายพันดอลลาร์รวมทั้งได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเรื่องลวงโลกที่เหล่ามิจฉาชีพอุปโลกขึ้นมา
ทาง FBI ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเชิงสถิติเกี่ยวกับคดี Virtual Kidnapping ได้ เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจะเลือกใช้โทรศัพท์แบบ pre-paid ซึ่งไม่สามารถติดตามข้อมูลอะไรจากเบอร์โทรศัพท์ปลายทาง รวมทั้งจำนวนเงินที่เรียกค่าไถ่ที่ไม่สูงมาก ทำให้ยากต่อการตรวจจับการเคลื่อนไหวของเงินตราระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันเหยื่อผู้เสียหายก็เลือกจะแจ้งความกับทางการท้องถิ่นหรือไม่ก็เก็บเรื่องนี้เอาไว้ไม่บอกใคร เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่ถูกแก๊งค์สแกมเมอร์หลอกเงิน
ข้อมูลของทีมสืบสวน FBI ในนครลอส แองเจลีส เมื่อปี ค.ศ. 2017 พบว่า ขบวนการ Virtual Kidnapping จำนวนมากมีต้นทางมาจากเรือนจำในเม็กซิโก ที่เลือกโทรหาเหยื่อเป็นคนที่พูดภาษาสเปนที่นครลอส แองเจลีส และ ฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ก่อนที่จะขยายวงกว้างเป็นขบวนการหลอกเหยื่อที่พูดภาษาอังกฤษในหลายเมืองทั่วอเมริกา ซึ่งนายเอริค อาร์บุธน็อท เจ้าหน้าที่สืบสวนของ FBI ในนครลอส แองเจลีส บอกว่า กลุ่มมิจฉาชีพจะเลือกพื้นที่คนมีเงิน อย่างเบเวอร์ลี ฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย
ปัจจุบัน คณะกรรมการด้านการสื่อสารของสหรัฐฯ หรือ FCC ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอเมริกา ทั้ง AT&T, T-Mobile และ Verizon พัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า Stir/Shaken เพื่อตรวจจับและการปราบปราบเหล่าสแกมเมอร์ ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ได้ช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งเปิดทางให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเสนอแอพพลิเคชั่นจัดการโรโบคอลให้กับผู้ใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ในเบื้องต้น
ก่อนที่ระบบป้องกันจะมาถึง ทารัน วาดห์ฮวา ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Day One Insight ผู้ติดตามเรื่องความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เตือนว่า ภัยคุกคามจากเหล่าสแกมเมอร์ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มาจากปัจจัยของเทคโนโลยี แต่เป็นการจี้ปมจิตวิทยาของมนุษย์ ซึ่งทำให้ยังมีคนตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
วาดห์ฮวา ทิ้งท้ายไว้ว่า หากสงสัยว่าจะตกเป็นเหยื่อแก๊งค์สแกมเมอร์ลักพาตัว สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตั้งสติ พยายามถ่วงเวลาของมิจฉาชีพเอาไว้ และเร่งติดต่อกับบุตรหลานหรือบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อให้ได้เร็วที่สุด เช่น ส่งข้อความสั้น หรือ SMS โทรหาหรือส่งข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลเหล่านั้นปลอดภัย แต่หากติดต่อไม่ได้ให้ต่อรองกับมิจฉาชีพให้ส่งรูปแบบหรือคลิปวิดีโอล่าสุดของเหยื่อ หรือขอพูดกับเหยื่อเพื่อยืนยันว่ามีการลักพาตัวเกิดขึ้นจริง
และสำหรับผู้ที่มีบุตรหลานอายุน้อย ควรมี safe word หรือ password เฉพาะที่รู้กันภายในครอบครัว เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนได้อีกทางหนึ่งหากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น