รายงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open ชี้ว่า เด็กที่เล่นหรือดูเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ซึ่งรวมถึงมีการใช้อาวุธปืนในเกมนั้น มีแนวโน้มที่จะจับปืนและเหนี่ยวไกปืนเพิ่มขึ้น
เด็กอายุระหว่าง 8-12 ปี จำนวน 242 คน เข้าร่วมในงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Ohio State โดยแบ่งเด็กออกเป็นสามกลุ่มแล้วให้จับคู่กัน กลุ่มแรกให้เล่นเกมที่มีการใช้อาวุธปืน กลุ่มที่สองเล่นเกมที่มีการใช้ดาบเป็นอาวุธ และกลุ่มที่สามเป็นเกมที่ไม่มีเนื้อหารุนแรง
ซึ่งเด็กที่จับคู่กันแต่ละคู่นั้น คนหนึ่งจะเป็นคนเล่นเกมและอีกคนหนึ่งเป็นคนนั่งดูเพื่อนเล่น เป็นเวลาราว 20 นาที จากนั้นให้เด็กเข้าไปในห้องที่มีของเล่นมากมายอยู่ในนั้น และมีปืนจริงที่ไม่มีกระสุนและไม่สามารถใช้งานได้ 2 กระบอกซุกซ่อนอยู่ในตู้ภายในห้องดังกล่าว
ผลการศึกษาพบว่ามีเด็ก 220 คนจาก 242 ที่พบปืนที่ซ่อนอยู่ โดยในจำนวนนี้ 61.8% ของเด็กที่เพิ่งเล่นเกมที่มีการใช้อาวุธปืนมานั้นจะเข้าไปถือปืน เทียบกับ 56.8% ของกลุ่มเด็กที่เล่นเกมที่มีการใช้ดาบเป็นอาวุธ และ 44.3% ของกลุ่มเด็กที่ไม่ได้เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง
นอกจากนี้ เด็กกลุ่มที่เล่นเกมที่มีความรุนแรงยังมีแนวโน้มที่จะเหนี่ยวไกปืนมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เล่นเกมรุนแรง และจำนวนการเหนี่ยวไกปืนมากหรือน้อยยังขึ้นอยู่กับประเภทของเกมที่เล่นด้วย กล่าวคือ หากเป็นเกมที่ต้องใช้ปืนยิงตัวสัตว์ประหลาดในเกมนั้น เด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้มีโอกาสเหนี่ยวไกปืนเพิ่มขึ้นราว 10 เท่า
และเมื่อยิ่งพิจารณาลงลึกไปอีก นักวิจัยพบว่า เด็กกลุ่มที่เล่นเกมซึ่งใช้อาวุธปืน มีโอกาสเหนี่ยวไกขณะเล็งปืนที่ตัวเองหรือที่เด็กอีกคนที่จับคู่กับตนเอง มากขึ้นราว 3.4 เท่า เทียบกับระดับ 1.5 เท่าในกลุ่มที่เล่นเกมแบบใช้ดาบ และ 0.2 เท่าในกลุ่มที่เล่นเกมแบบไม่รุนแรง
แบรด บุชแมน ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารที่มหาวิทยาลัย Ohio State ผู้จัดทำรายงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า แต่ละวันในสหรัฐฯ มีเด็กและวัยรุ่นเกือบ 50 คนที่ถูกทำร้ายด้วยอาวุธปืน ในขณะที่ครัวเรือนอเมริกันที่ครอบครองอาวุธปืนนั้น มีอยู่ราว 20% ที่ยังไม่มีการเก็บอาวุธปืนนั้นอย่างปลอดภัย
นักวิจัยผู้นี้ชี้ด้วยว่า งานวิจัยชิ้นนี้สามารถชี้ให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญสองประการสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
หนึ่งคือ ผู้ปกครองที่มีปืนภายในบ้านควรเก็บปืนของตนให้ปลอดภัยและไม่ให้ลูกหลานสามารถเข้าถึงได้ และสองคือ ผู้ปกครองควรปกป้องเด็กๆ จากสื่อที่รุนแรงในรูปแบบต่างๆ รวมถึงวิดีโอเกม
(SOURCE: https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2734799 , JAMA Network Open, May 31, 2019.)