ธนาคารโลกประมาณว่าสองในสามของนายจ้างในเวียดนามร้องทุกข์ว่าลูกจ้างโดยทั่วไปขาดทักษะที่เรียกว่า ‘soft skills’ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการขบแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม ความเป็นผู้นำ การปรับตัว และการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ
แต่เวียดนามเชื่อว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วย Fablab!
Fablab ซึ่งย่อมาจาก Fabrication Laboratory เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายระดับโลก ที่จัดสถานที่ใช้เป็นห้องปฏิบัติการหรือห้องทดลอง สำหรับผู้ที่สนใจสร้างสิ่งของหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ทำคนเดียวไม่ได้
เวลานี้ Fablab กำลังแพร่กระจายไปตามเมืองต่างๆ ในเวียดนาม ตั้งแต่ โฮจิมินห์ซิตี้ ไปจนถึงดินดอนสามเหลี่ยมแม่โขง
เป้าหมายสำคัญของ Fablab คือปรับแก้ทัศนคติทั่วไปในหมู่นายจ้าง ที่เห็นว่าพนักงานลูกจ้างของตนร่ำเรียนมาทางทฤษฏี แต่นำมาใช้ในทางปฏิบัติไม่ได้
อาจารย์ Tran Hoang Quan ซึ่งสอนวิชาอิเล็กทรอนิกส์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโฮจิมินห์ซิตี้ เชื่อว่าวิธีแก้ทัศนคติดังกล่าว คือการเรียนรู้โดยให้มีการสร้างทำสำหรับโครงการทำงานเป็นพื้นฐาน เป็นการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการประยุกต์ใช้
นักวิชาการผู้นี้ให้ความเห็นว่านักศึกษาจะมีความจูงใจ และสนใจในการเรียนการสอนมากขึ้น
Fablab และบริการอื่นๆ ที่เปิดสถานที่สำหรับผู้ต้องการสร้างผลผลิตและสิ่งประดิษฐ์คิดค้นเหล่านี้ มีอุปกรณ์ให้ได้ใช้ ตั้งแต่เครื่องตัดด้วยแสงเลเซอร์ จักรเย็บผ้า และเครื่องมือต่างๆ
อาจารย์ Vo Minh Tri ซึ่งสอนวิชา Automation Technology ที่มหาวิทยาลัย Can Tho ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่โขง เห็นด้วยและเล่าประสบการณ์ของเขาว่า นอกจากนักศึกษาจะมีโอกาสได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆแล้ว ยังสามารถดำเนินการทดลอง เช่น ใช้อุปกรณ์ออกท้องที่ไปนับไข่กุ้ง เพื่อหาทางเพิ่มผลิตภาพให้กับฟาร์มกุ้งซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ในบริเวณนั้นด้วย
เป้าหมายในที่สุดของเครือข่าย Fablab คือการปรับคุณภาพแรงงานเวียดนาม เพื่อให้ก้าวหน้าพร้อมกับบรรดาประเทศภาคี ASEAN ด้วยกัน