สำนักข่าวเอพี (Associated Press) รายงานว่า เป้าหมายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่ต้องการให้ชาวอเมริกันบางส่วนเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่กระตุ้นภูมิ หรือบูสเตอร์โดส ซึ่งส่วนมากจะเป็นเข็มที่สาม ในวันที่ 20 กันยายนนี้ ยังคงดำเนินต่อไป
แต่แผนการแจกจ่ายวัคซีนนั้นยังขาดความชัดแจนอยู่และอาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการกระจายวัคซีนบูสเตอร์ขึ้นได้ เนื่องจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) กำลังรอพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วนมากขึ้น
นายแพทย์แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้ระบุว่าตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า บริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ได้ส่งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับวัคซีนเข็มที่สามให้แก่ FDA ครบถ้วนแล้ว ในขณะที่บริษัทโมเดอร์นายังคงไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่อนุมัติวัคซีนไม่ทันวันที่ 20 กันยายนนี้
นอกจากนี้ วัคซีนบูสเตอร์ของโมเดอร์นาจะเป็นการใช้วัคซีนโมเดอร์นาแบบปกติเพียงครึ่งโดสเท่านั้น ส่วน ซีอีโอของไฟเซอร์ อัลเบริต์ บอร์ล่า บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า เขามั่นใจว่าไฟเซอร์บูสเตอร์โดสที่มาจากวัคซีนป้องกันโควิดตัวแรกและตัวเดียวของไฟเซอร์นั้นจะสามารถป้องกันสายพันธ์ุเดลตาได้
ควรจะฉีดวัคซีนเข็มที่สามเมื่อไหร่?
ระยะเวลาที่ประชากรควรจะได้รับบูสเตอร์โดสนั้น รัฐบาลประธาธิบดีชุดไบเดนต้องการให้เกิดขึ้นหลัง 8 เดือนที่ผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดรับวัคซีนครบโดสแล้ว
ดร. แคมเมรอน วูล์ฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อที่มหาวิทยาลัย Duke ในสหรัฐฯได้เตือนว่า หากฉีดบูสเตอร์เร็วเกินไป คือเร็วกว่าที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะสิ้นสุดการสร้างภูมิ เราก็เสียประโยชน์ เพราะฉะนั้น รออีกสักนิดก่อนที่จะฉีดจะเป็นการป้องกันที่ดีกว่า
ส่วนทางด้านดร. เจสซี กู๊ดแมน อดีตผู้อำนวยการด้านวัคซีนของ FDA อธิบายว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจว่าการฉีดบูสเตอร์เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ หรือเป็นอะไรที่เราควรจะรอให้มีข้อมูลมากกว่านี้ก่อน
ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาของ FDA จะหารือในวันศุกร์ที่ 17 กันยายนนี้ว่าจะอนุมัติวัคซีนบูสเตอร์ยี่ห้อไฟเซอร์หรือไม่ กำหนดการดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 3 วันก่อนที่รัฐบาลไบเดนตั้งเป้าไว้ว่าจะเริ่มจ่ายวัคซีนบูสเตอร์โดสให้แก่ชาวอเมริกันบางส่วน
ใครควรจะได้รับวัคซีนบูสเตอร์?
หากวัคซีนข้างต้นได้รับการอนุมัติ ที่ปรึกษาของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ (CDC) จะประกาศคำแนะนำว่าบุคคลกลุ่มใดบ้างที่ควรจะได้รับวัคซีนบูสเตอร์นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ CDC ได้แถลงการณ์ว่า จะเริ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อาศัยในสถานดูแลคนชราก่อน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่อปลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้
การแนะนำว่าใครควรจะได้รับวัคซีนนั้นเป็นเรื่องที่ลำบาก เนื่องจากข้อมูลจากสถานการณ์การระบาดโควิดชี้ว่า วัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสที่ออกมาก่อนหน้านี้ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการลดลงของประสิทธิภาพการป้องเกิดจากร่างกายของคนเราที่ภูมิลดไปเอง สายพันธุ์เดลตาที่ระบาดได้ง่ายและรวดแร็ว คำสั่งยกเลิกการใส่หน้ากากหรือข้อควรระวังอื่น ๆ ในบางประเทศ
วัคซีนบูสเตอร์มีกลไกการป้องกันอย่างไร?
วัคซีนป้องกันโควิดนั้นถูกออกแบบขี้นมาเพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสู้กับเชื้อโคโรนาไวรัส โดยการสร้างแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ใช่เชื้อดังกล่าวสามารถเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้
คนเราจะมีแอนติบอดี้ในร่างกายเป็นจำนวนมากหลังจากได้รับวัคซีน แต่วัคซีนป้องกันโควิดก็เหมือนวัคซีนชนิดอื่น ๆ ภูมิคุ้มกันในร่างกายเราจะค่อย ๆ ลดลงจนถึงระดับที่ต้องการการกระตุ้น บูสเตอร์โดสนั้นจะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวให้ภูมิต้านทานโรคกลับมาอยู่ในระดับที่สูงอีกครั้ง
วัคซีนเข็มสามมีประสิทธิภาพการป้องกันแค่ไหน?
อย่างไรก็ตาม นักภูมิคุ้มกันวิทยา อลี แอล์บีดี้ บอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ยังไม่มีใครทราบว่าระดับภูมิคุ้มกันเท่าไรถึงจะเป็นระดับที่จะเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เขาบอกว่ายากมากที่จะมากำหนดว่าภูมิคุ้มกันระดับไหนถึงจะไม่มีการติดเชื้อได้เลย
ร่างกายของคนเรายังตอบสนองต่อวัคซีนแตกต่างกันด้วย เช่น คนที่อายุน้อยจะสามารถผลิตภูมิต้านทานโรคได้สูงกว่าคนที่มีอายุมากกว่า และแม้เวลาจะผ่านไปแล้วหลายเดือนจนภูมิลดลงไปเรื่อย ๆ แล้วนั้น คนกลุ่มนี้ก็ยังมีแอนติบอดี้ในระดับที่พอที่จะสามรถต่อสู้กับโควิดได้อยู่ ส่วนคนที่มีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ อย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็ง บูสเตอร์นั้นไม่ใช่การกระตุ้นแต่เป็นการให้ภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อร่างกายที่ไม่แข็งแรง
เข็มที่สามเป็นวัคซีนเป็นชนิดเดียวกันกับเข็มเเรก หรือเป็นสูตรใหม่เพื่อสู้สายพันธุ์เดลตา?
ทั้งนี้ วัคซีนเข็มที่สามจะเป็นวัคซีนที่เพิ่มขึ้นมาจากสองโดสแรกที่ผู้ผลิตวัคซีนผลิตกำหนด ซึ่งทางด้านผู้ผลิตนั้นกำลังศึกษาว่าควรจะปรับสูตรวัคซีนบูสเตอร์อย่างไรเพื่อให้รับมือกับการระบาดของเดลตาได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าการเปลี่ยนสูตรนั้นมีความจำเป็น นอกจากนี้ การปรับสูตรจะใช้เวลานานในการให้รัฐบาลอนุมัติและแจกจ่ายให้แก่ประชาชน
(ที่มา สำนักข่าว AP และรอยเตอร์)