นอกไปจากงานเลี้ยงอาคารค่ำต้อนรับผู้นำจีนและภรรยาที่ทำเนียบ White House แล้ว ประเด็นสำคัญที่คาดว่าผู้นำทั้งสองจะหารือกัน ตามถ้อยแถลงจากทำเนียบฯ จะเป็นเรื่องการขยายความร่วมมือระหว่างกันในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับโลก ภูมิภาค ไปจนถึงทวิภาคีที่สนใจร่วมกัน
ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่แต่ละฝ่ายจะได้แสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกันด้วย
เรื่องแรกคือการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต หรือ cyber attack ที่สหรัฐกล่าวหาว่าจีนระดมการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ทั้งที่เป็นของรัฐบาลและของธุรกิจในสหรัฐฯ จีนได้ปฏิเสธบทบาทของตนในเรื่องนี้มาตลอด และยืนยันว่าจีนเองก็ถูกโจมตีในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย
เรื่องที่สองคือพฤติกรรมของจีนในทะเลจีนใต้และตะวันออก ซึ่งจีนและประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณดังกล่าว ต่างอ้างสิทธิ์อธิปไตยทับซ้อนเหนือหมู่เกาะต่างๆ ในแถบทะเลทั้งสองแห่ง ทำให้เกิดความตึงเครียดเป็นอย่างมาก
แต่ปฏิบัติการของจีนที่ทำให้สหรัฐวิตกกังวลมาก คือการถมทะเลขยายเกาะ โดยเฉพาะที่หมู่เกาะ Spratly ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนอกจากจีนจะอ้างสิทธิ์แล้ว ยังมีเวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไนที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไว้ด้วย
สหรัฐได้เรียกร้องให้จีนระงับการกระทำดังกล่าว และเปิดทางให้มีการเดินเรือโดยเสรีในบริเวณที่มีความขัดแย้ง ซึ่งจีนกล่าวว่าการกระทำของตนมุ่งสันติ และมิได้ขัดขวางเส้นทางการเดินเรือแต่อย่างใด
จีนเองไม่พอใจกับนโยบาย ‘Pivot to Asia’ หรือ “หันหน้าไปสู่เอเชีย” ของสหรัฐ โดยเฉพาะในด้านการรักษาความมั่นคงและการทูต โดยจีนมองว่าเป็นความพยายามของสหรัฐที่จะจำกัดอิทธิพลก้าวหน้าของจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐปฏิเสธ
ในขณะเดียวกัน กลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเร่งเร้าให้ประธานาธิบดี Obama ยกเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเป็นประเด็นเด่น ในการเยือนสหรัฐของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้ โดยกล่าวว่ามีการบั่นทอนสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมากภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี Xi Jinping
ในการหารือระดับสูงระหว่างจีนกับสหรัฐที่แล้วๆ มา เจ้าหน้าที่สหรัฐไม่เต็มใจที่จะตำหนิวิพากษ์ผู้นำจีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบความร่วมมือที่สำคัญทางด้านอื่น
ส่วนความร่วมมือที่สำคัญเรื่องหนึ่งระหว่างสหรัฐกับจีน คือ นโยบายเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง และคาดกันว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดมุ่งเน้นสำคัญของการเยือน
ในการเยือนปักกิ่งโดยประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีที่แล้ว สหรัฐประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยแก๊ส Carbon Dioxide ไว้ว่า จะลดให้ได้ 26-28% ต่ำกว่าระดับของปีค.ศ. 2005 ภายในสิบปีข้างหน้า
ในขณะที่จีนประกาศว่า จะเริ่มลดการปล่อยแก๊ส Carbon หลังจากจุดสูงสุดในปีค.ศ. 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า
นับเป็นครั้งแรกที่จีนยอมกำหนดเป้าหมายในเรื่องนี้ และถือกันว่าเป็นข้อตกลงครั้งสำคัญระหว่างประเทศทั้งสองผู้ปล่อยแก๊สเรือนกระจกพืชที่ทำให้โลกร้อนขึ้น มากกว่าประเทศอื่นๆ