หนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโอบามา เตรียมที่จะออกมาตรการลงโทษวิธีต่างๆเช่น ยึดทรัพย์บุคคลหรือบริษัทจีนที่ขโมยความลับทางการค้า ด้วยการเจาะล้วงระบบคอมพิวเตอร์
คาดว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายก่อนการประกาศมาตรการลงโทษอาจมีขึ้นอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้ ซึ่งจะใกล้เคียงกับการเยือนกรุงวอชิงตันเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิงของจีน
รายงานฉบับนี้จาก Washington Post อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลหลายคน ที่บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่ทำเนียบขาวจะใช้มาตรการลงโทษบุคคลใดๆ ในจีนที่เจาะล้วงข้อมูลการค้าเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตัดสินใจว่าในที่สุดแล้วจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการหรือไม่
หากเกิดขึ้นจริงเนื้อหาของบทลงโทษรวมถึงการยึดทรัพย์ และห้ามผู้กระทำผิดทำธุรกรรมใดๆ ผ่านระบบการเงินของสหรัฐฯ สื่อฉบับนี้กล่าวว่า การที่รัฐบาลพิจรณามาตรการลงโทษใกล้กับเวลาการเยือนอเมริกาของผู้นำจีน สะท้อนให้เห็นว่าทางการอเมริกันหงุดหงิดอย่างมาก หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานและบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่งถูกแฮคเกอร์เข้าขโมยข้อมูล
รายงานกล่าวว่าจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจาะล้วงข้อมูลของประเทศอื่น แต่จีนเป็นอันดับหนึ่งที่มีการแฮคข้อมูล ทั้งนี้ FBI หรือ หน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ ชี้ว่า เมื่อปีที่แล้วการสอดแนมทางธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 และเกือบทั้งหมดมีต้นกำเนิดจากจีน
Washington Post ระบุว่ายังไม่มีความชัดเจนเรื่องจำนวนบุคคลหรือหน่วยงานจีนที่ทำเนียบขาวเตรียมจะลงโทษ แต่เป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวโยงกับธุรกิจข้ามชาติของจีน
ความแข็งขันของสหรัฐฯในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากระบบฐานข้อมูลส่วนตัวเจ้าหน้ารัฐถูกเจาะล้วง ซึ่งแม้ว่าตัวข้อมูลจะไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจจีนอย่างชัดเจน แต่การกระทำดังกล่าวโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่อเมริกันเตรียมการลงโทษที่หนักหน่วง
เมื่อเดือนเมษายนประธานาธิบดีโอบามาออกคำสั่งฝ่ายบริหารให้มีการเตรียมแผนลงโทษการเจาะล้วงข้อมูลสำหรับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลภายนอกสหรัฐฯเป็นครั้งแรก
ที่ผ่านมา ปักกิ่งปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจารกรรมข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ตามที่อเมริกากล่าวหาหลายครั้ง และบอกด้วยว่าอันที่จริงจีนตกเป็นเหยื่อของแฮคเกอร์เสียเองด้วยซ้ำ
Ankit Panda บรรณาธิการของนิตยสาร The Diplomat กล่าวว่ามาตรการของสหรัฐฯที่แข็งขันมากขึ้นคงยังไม่ถึงขั้นเป็นการประกาศสงครามไซเบอร์กับจีน
เขากล่าว่าครั้งนี้คงเป็นความพยายามปรับพฤติกรรมจีน ด้วยการแสดงให้เห็นถึงผลที่ตามมาหากที่การเจาะล้วงข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่าสหรัฐฯ คงต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่าการขโมยข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น เป็นคนละเรื่องกับปฏิบัติการแฮคข้อมูลที่กระทบกระเทือนความมั่นคงเเห่งชาติ
ที่เป็นเช่นนั้นก็อาจจะมาจากที่นาย Edward Snowden อดีตลูกจ้างหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยแฟ้มลับจำนวนมากที่ส่วนหนึ่งชี้ว่าอเมริกาเจาะล้วงระบบคอมพิวเตอร์ประเทศอื่นด้วย ตามการวิเคราะห์ของจีน
นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง Greg Austin จาก Center for Cyber-Security ที่ออสเตรเลีย กล่าวว่าเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าข้อมูลที่ได้จากระบบคอมพิวเตอร์มีส่วนทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าอย่างชัดเจน
เพราะข้อมูลทางธุรกิจในหลายกรณีสามารถค้นได้จากแหล่งสาธารณะที่เปิดเผยทั่วไป ดังนั้นสหรัฐฯควรรักษาสมดุลระหว่างการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเฉพาะเจาะจง กับการแสดงท่าทีไม่พอใจจีนโดยรวมที่ปล่อยให้มีการจารกรรมข้อมูลบนโลกไซเบอร์
(รายงานโดยหนังสือพิมพ์ Washington Post และผู้สื่อข่าว Victor Beattie / เรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท)