ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รักชนะทุกสิ่ง? ธุรกิจการแต่งงานในอเมริกากับความคาดหวังที่ตามมามากมาย


Leena and Nima Vaez celebrate at their March 2020 wedding. (Photo courtesy Leena Vaez)
Leena and Nima Vaez celebrate at their March 2020 wedding. (Photo courtesy Leena Vaez)
US Wedding
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:38 0:00


ส่งท้ายเดือนแห่งความรัก ด้วยฤดูกาลงานวิวาห์ในอเมริกา ปกติแล้วจะมีขึ้นช่วงเริ่มต้นเดือนมีนาคม หรือช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิเป็นต้นไป ซึ่งนี่ถือเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูอย่างมากในอเมริกา และตามมาด้วยความคาดหวังมากมาย

อามีรา อาห์มาดีห์ จะลั่นระฆังวิวาห์ในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งการวางแผนแต่งงานช่วงภาวะการระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คาดไว้ และเธอรู้สึกตื่นเต้นที่จะให้คนสำคัญของเธอได้ร่วมเฉลิมฉลองโอกาสนี้ด้วย

นักวิเคราะห์ด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ในรัฐแมริแลนด์ บอกว่า เธอฝันว่าจะได้เจอคนที่ใช่มากกว่าฝันถึงงานแต่งงานของเธอ แต่กลายเป็นว่าตอนนี้เธอกำลังพัวพันอยู่กับสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญจะเรียกว่า wedding industrial complex หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมการแต่งงาน

ในกรณีของอาห์มาดีห์ เล่าว่า สถานที่จัดงานที่เธอเลือก ต้องดูแลเรื่องโต๊ะ เก้าอี้ ผ้าปูโต๊ะ และจัดการเรื่องอาหาร แต่เธอต้องไปหาร้านดอกไม้ ช่างภาพ ช่างถ่ายวิดีโอ ดีเจ และยังต้องคอยจดจำรายละเอียดต่างๆ ของงาน เช่น สัญลักษณ์บนโต๊ะ ผ้าเช็ดปาก สิ่งละอันพันละน้อยที่ไม่มีวันจบสิ้น

ก่อนที่อุตสาหกรรมการแต่งงานจะเฟื่องฟูขนาดนี้ เมื่อมองย้อนกลับไปหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความคาดหวังของงานแต่งงาน ที่เจ้าสาวต้องมีชุดแต่งงานสีขาว คัตติ้งหรูหราราคาแพง เริ่มต้นในยุคนั้น และนี่เป็นยุคแรกที่มีการใช้ผ้าไนลอนและเรยอน ซึ่งพัฒนามาจากวัสดุผลิตร่มชูชีพในยุคนั้น มาตัดชุดแต่งงานราคาย่อมเยา แทนการใช้ผ้าซาตินและผ้าไหม

ส่วนเพชรวิบวับราคาแพง ไม่ได้เป็นเพื่อนรักของเจ้าสาวมาก่อน เพราะในอดีตแหวนเพชร ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธรรมเนียมการขอแต่งงานมาก่อน จนกระทั่งช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1940 De Beers ได้ว่าจ้างนักแสดงในฮอลลีวู้ดให้สวมแหวนเพชรระยิบระยับในภาพยนตร์ต่างๆ หรือตามการถ่ายปกนิตยสาร พร้อมทั้งได้ปลูกฝังแนวคิดที่ว่าเพชร คือ สัญลักษณ์ของความรัก รวมถึงสโลแกนดัง “diamonds are forever” ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมอเมริกันนับแต่นั้นมา

การแต่งงานได้กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ครอบคลุมทั้งนักวางแผนงานแต่งงาน ช่างตัดชุด ร้านเครื่องประดับ ร้านดอกไม้ ธุรกิจรับจัดเลี้ยง สถานที่รับจัดงาน ช่างภาพ ช่างภาพวิดีโอ ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ซึ่งพึ่งพางานแต่งเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีพของพวกเขา

แคทเธอรีน เจลลิสัน อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก Ohio University ผู้เขียนหนังสือ “It's Our Day: America's Love Affair with the White Wedding, 1945-2005” บอกว่า ธุรกิจงานแต่งงานเป็นธุรกิจใหญ่ในอเมริกามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 การแต่งงานเป็นกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจอเมริกันเมื่อคุณเห็นช่องทางของธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหลายนี้ ธุรกิจเหล่านี้เกิดขึ้นจากเป้าหมายในการขายบางสิ่งบางอย่าง และนั่นคือคำสัญญาว่าจะมีความสุขชั่วนิรันดร์

เจลลิสัน เพิ่มเติมว่า กว่าที่บ่าวสาวจะกล้าควักเงินหลายหมื่นดอลลาร์ให้กับสินค้าบริการเกี่ยวกับงานแต่งได้ ต้องสร้างวัฒนธรรมที่ขายแนวคิดว่ามันคุ้มค่าพอที่จะเสียไปเสียก่อน คิดง่ายๆว่าการ์ตูนที่เราเคยเห็นภาพของเจ้าหญิงในชุดสวยงามอลังการ ได้ปลูกฝังความคิดของหญิงสาวว่าอยากจะเป็นเจ้าหญิงสักครั้งในชีวิตจริง ด้วยชุดราตรีสีขาวยาวลากพื้นในวันแต่งงานของพวกเธอ

ชุดแต่งงานของเจ้าสาว คือ โอกาสเดียวที่เจ้าสาวจะได้เป็นศูนย์กลางของความสนอกสนใจ โดยที่ไม่ต้องแคร์ไม่ต้องรู้สึกผิด และสังคมก็รับรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี

ลอรี่ เอสสิก อาจารย์จาก Middlebury College บอกว่าในการวิจัยของเธอที่ไปสอบถามคู่รักที่ไปตามงาน wedding expos แหล่งรวบรวมสินค้าบริการเกี่ยวกับงานแต่งสำหรับคู่บ่าวสาวในอนาคต พบว่า คู่รักหนุ่มสาวดูจะกังวลถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น

เอสสิก บอกว่า นับจากคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา จะพบว่าคู่รักใช้จ่ายกับการแต่งงานมากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจแต่งงานและอุดมการณ์โรแมนติกที่เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงนั้น จากที่หนังแนวเจ้าหญิงออกมามากมาย และปลูกฝังแนวคิดที่ว่าหนทางเดียวที่เราจะมีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย คือ การมองหาคนที่ใช่ไปด้วยกัน

กลับมาที่ว่าที่เจ้าสาว อาห์มาดีห์ จากแมริแลนด์ เธอมองว่าไม่ได้กังวลถึงงานแต่งของตัวเอง มากเท่ากับกังวลว่าแขกเหรื่อของเธอจะคิดอย่างไรกับวันสำคัญนี้ ทำให้เธอรู้สึกกดดันและอยากทำให้ได้ตามที่พวกเขาคาดหวัง

อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก Ohio University เชื่อว่า การแต่งงานในยุคโควิด ทำให้คู่บ่าวสาวต้องยอมลดขนาดงานแต่งในฝันของพวกเขาไปมาก แต่ในระยะ 2-3 ปีจากนี้ เมื่อภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผ่านพ้นไป งานแต่งงานในอนาคตจะต้องยิ่งใหญ่ขึ้นและอลังการขึ้นมาก อย่างน้อยสำหรับผู้ที่มีกำลังจะจ่ายหลังจากนี้ เหมือนกับในอดีตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลังจากช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ที่งานแต่งงานกลับมายิ่งใหญ่ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองหลังจากช่วงเวลาที่หม่นหมองผ่านพ้นไปนั่นเอง

XS
SM
MD
LG