สหรัฐฯ ส่งเรือรบลำหนึ่งล่องผ่านช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานประจำของตน แต่จีนก็ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อกรณีนี้ทันที ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรือรบของสหรัฐฯ มักล่องผ่านช่องแคบไต้หวันเป็นประจำ โดยบางครั้งจะมีเรือรบของประเทศพันธมิตรอื่น ๆ เช่น อังกฤษและแคนาดา มาร่วมด้วย โดยแต่ละครั้งก็นำมาซึ่งความไม่พอใจจากจีนที่อ้างมาตลอดว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของตน แม้รัฐบาลกรุงไทเปที่ได้รับเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตยจะปฏิเสธเสมอมาก็ตาม
แถลงการณ์จากกองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เรือพิฆาตติดขีปนาวุธ ชุง-ฮูน คือ เรือลำที่เพิ่งแล่นผ่านเส้นทางดังกล่าว โดยมีการระบุว่า “การล่องเรือผ่านช่องแคบไต้หวันของ(เรือพิฆาต)ชุง-ฮูน นั้นแสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นของสหรัฐฯ ต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและมีเสรี”
ขณะเดียวกัน ลิว เพิงหยู โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน ระบุในแถลงการณ์ว่า จีนขอคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการที่สหรัฐฯ ส่งเรือรบแล่นผ่านพื้นที่ดังกล่าว และร้องขอให้สหรัฐฯ “ยุติการสร้างปัญหายั่วยุ ยกระดับความตึงเครียด และบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงในแถบพื้นที่ช่องแคบไต้หวันโดยทันที”
แถลงการณ์จากสถานทูตจีนยังระบุด้วยว่า “เรือรบของสหรัฐฯ มักออกมาอวดอำนาจของตนบ่อยครั้ง โดยอ้างเรื่องของการใช้สิทธิ์ตามเสรีภาพในการเดินเรือ นี่ไม่ใช่เรื่องของการทำให้พื้นที่ภูมิภาคเสรีและเปิดกว้าง” และว่า “จีนจะเดินหน้ารักษาระดับการระวังภัยสูงสุดและพร้อมที่จะตอบโต้ภัยคุกคามและการยั่วยุทั้งหลายตลอดเวลา และจะแน่วแน่ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนของเราต่อไป”
นอกจากนั้น โฆษกของกองบัญชาการยุทธบริเวณภาคตะวันออกของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน กล่าวว่า ได้มีการจัดกองกำลังพลให้จับตาดูและทำการอารักขาเส้นทางแล่นผ่านของเรือรบดังกล่าวแล้ว และ ว่า “การเคลื่อนไหวทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว” ด้วย
ส่วนกระทรวงกลาโหมไต้หวันก็ออกมาแถลงว่า เรือที่แล่นผ่านเส้นทางดังกล่าวนั้นล่องขึ้นเหนือผ่านบริเวณช่องแคบไต้หวัน และชี้แจงว่า กองกำลังของตนได้ทำการเฝ้าระวังเส้นทางนี้ไว้แล้วและไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติใด ๆ เลย
ทั้งนี้ ช่องแคบไต้หวันซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างแคบนี้เป็นบริเวณที่จุดระเบิดความตึงเครียดทางทหารมาหลายครั้งแล้ว นับตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนพ่ายแพ้และหนีภัยมาไต้หวันในปี 1949 หลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นผู้จัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น
สหรัฐฯ เองไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่มีภาระผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ต่อเกาะที่ปกครองด้วยตนเองแห่งนี้ในการปกป้องตนเอง
จีนก็ไม่เคยปฏิเสธว่า จะไม่ใช้กำลังในการยึดไต้หวันเข้ามาเป็นของตนเลย และไต้หวันก็ประกาศมั่นว่าจะปกป้องตนเองหากถูกโจมตี โดยยืนยันว่า คำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์จากจีนนั้นถือเป็นโมฆะไปแล้ว เพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เคยปกครองเกาะแห่งนี้เลย
- ที่มา: รอยเตอร์