ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ กำหนดให้ผู้ขอวีซ่าเข้าประเทศเกือบทุกคนแจ้งข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียของตน
นอกจากนี้ผู้ที่ขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ต้องแจ้งที่อยู่อีเมลและหมายเลขโทรศัพท์ที่เคยใช้ ข้อกำหนดใหม่นี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวต่างชาติประมาณ 15 ล้านคนที่ต้องการขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ในแต่ละปี
รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์เสนอกฏนี้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ. 2561 นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ตรวจคัดกรองแบบเข้ม” ของรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและนักท่องเที่ยวทุกคน มีเพียงผู้ยื่นขอวีซ่าที่เป็นนักการทูตหรือข้าราชการเท่านั้นที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏนี้
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าได้เปลี่ยนแบบฟอร์มการยื่นขอวีซ่าทั้งสำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานและผู้ที่ไม่ได้ย้ายเข้าเมืองเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แบบฟอร์มดังกล่าวจะถามชื่อบัญชีโซเชียลมีเดีย หมายโทรศัพท์ กิจกรรมการเดินทางระหว่างประเทศและประวัติการเนรเทศในระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ผู้ขอวีซ่าจะต้องตอบคำถามว่าสมาชิกในครอบครัวมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการก่อการร้ายหรือไม่
กระทรวงการต่างประเทศกล่าวในแถลงการณ์ว่า ข้อกำหนดใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการคัดกรองเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ
ในอดีตที่ผ่านมา ประวัติการใช้สื่อสังคมออนไลน์ อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์นั้นเป็นที่ต้องการจากผู้ที่ได้รับการตรวจสอบเพื่อขั้นตอนต่อไปแล้วเท่านั้น กลุ่มผู้ยื่นขอวีซ่ากลุ่มนี้มีประมาณ 65,000 คนรวมถึงผู้ที่เคยเดินทางไปยังพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วย
ผู้ยื่นขอวีซ่าจะต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้บริการโซเชียลมีเดียของสหรัฐฯ เช่น Facebook Google Instagram LinkedIn Twitter และ YouTube นอกจากนี้จะต้องให้รายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศที่สำคัญเช่น Douban Tencent QQ และ Sina Weibo ของประเทศจีน
สื่อออนไลน์ The Hill รายงานว่า ผู้ยื่นขอวีซ่าสามารถเลือกที่จะบอกว่าตนไม่มีบัญชีโซเชียลมีเดียได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศเตือนว่าการโกหกเกี่ยวกับกิจกรรมโซเชียลมีเดียจะมีผลร้ายแรงต่อการตรวจคนเข้าเมืองสำหรับผู้ขอวีซ่า
สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน หรือ ACLU และกลุ่มสิทธิส่วนบุคคลหลายกลุ่มคัดค้านข้อกำหนดใหม่นี้ตั้งแต่มีการเสนอเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ในเวลานั้น ACLU ได้เตือนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์
แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการนี้ไม่เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะสิ่งที่ปรากฎอยู่ในโซเชียลมีเดียนั้นถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว
Hina Shamsi ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงแห่งชาติของ ACLU กล่าวว่า ตอนนี้ผู้คนต่างสงสัยว่าสิ่งที่ตนโพสต์ออนไลน์อาจจะถูกเข้าใจผิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
และว่ายังไม่มีหลักฐานว่าการตรวจสอบโซเชียลมีเดียนั้นมีประสิทธิภาพหรือถูกต้องจริงหรือไม่