กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานประจำปี ว่าด้วยเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อประชาชน ซึ่งมีการระบุชื่อหกประเทศที่เกิดเหตุการณ์รุนเเรงเช่นนี้คือ เมียนมา จีน เอธิโอเปีย อิรัก ซีเรีย และซูดานใต้
รายงานฉบับนี้ระบุถึงมาตรการที่อเมริกาใช้ เพื่อกดดันประเทศเหล่านั้น เช่นมาตรการทางเศรษฐกิจและการทูต เป็นต้น
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลของตนจะใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มี รวมถึงช่องทางการทูต การให้ความช่วยเหลือ การตรวจสอบหาความจริง มาตรการทางการเงิน เเละการนำเสนอรายงานเพื่อให้เกิดเเรงขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนแปลง
เมื่อเดือนมกราคม รัฐมนตรีบลิงเคนกล่าวว่า จีนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) และก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ในกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังคงไม่ออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่จีนที่เชื่อว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อการจับกุมและคุมขังชาวอุยกูร์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในประเทศจีน
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษและเเคนาดา ต่างใช้มาตรการลงโทษต่อชาวจีนสองรายที่มีส่วนเกี่ยวของกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง นอกจากนี้บริษัทจีนหลายสิบเเห่งถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ผู้ก่อตั้งองค์กร Genocide Watch นายเกรกอรี่ สเเตนตัน บอกกับวีโอเอว่า การก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญากรรมที่สามารถเอาผิดได้ในศาลของอเมริกา ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดที่ใด และผู้กระทำผิดสามารถถูกดำเนินคดีในศาลรัฐบาลกลางอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าผู้ถูกดำเนินคดีจะต้อง อยู่ในผืนเเผ่นดินสหรัฐฯ
เกรกอรี่ สเเตนตันวิจารณ์รัฐบาลอเมริกันว่า ล่าช้าหรือไม่ออกตัวเต็มที่ในบางครั้งกับการแสดงจุดยืนว่าความรุนเเรงในบางประเทศ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่นเหตุการณ์ในรวันดา หรือสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาในเมียนมา รวมถึงชาวคริสต์ในไนจีเรีย
ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทอม เเดนเนบาม ผู้สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศที่ Fletcher School แห่งมหาวิทยาลัย Tufts ของสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า ภายใต้อนุสัญญา Genocide Convention ปีค.ศ. 1948 ที่สหรัฐฯ ลงนามรับรอง รัฐต่างๆ ในอเมริกาจะต้องช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจในการใช้กำลังทหารเข้าไปยุติการกระทำผิด
ในส่วนของจีน รัฐบาลปักกิ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญา Genocide Convention เช่นเดียวกับสหรัฐฯและอีก 150 ชาติ แต่จีนเคยเเสดงจุดยืนไม่เต็มใจยอมรับบางมาตรา และทำให้ไม่สามารถใช้อนุสัญญานี้เดินเรื่องทางกฎหมายต่อจีนอย่างเต็มที่ได้ในระดับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Court of Justice ที่เป็นกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยสันติวิธี
สำหรับบทบาทของสหรัฐฯ ต่อเหตุการณ์ในเมียนมา ทางการอเมริกันได้ใช้มาตรการลงโทษต่อผู้นำทหารและระงับกิจกรรมทางกลาโหมร่วมกับเมียนมา ตั้งเเต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ทางการอเมริกันยังได้ขยายการให้สถานะคุ้มครองต่อคนพม่าในสหรัฐฯ 18 เดือน หลังเหตุการณ์รัฐประหาร
ก่อนหน้ากองทัพทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี การที่ชาวโรฮีนจาถูกปราบปรามอย่างรุนเเรงในปี ค.ศ. 2016 และ 2017 ทำให้สหรัฐฯ เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็นการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ (ethnic cleansing)
รายงานฉบับนี้ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ให้เอธิโอเปีย ที่เกิดความรุนเเรงในเขตทิเกรย์ ซึ่งอเมริกาใช้คำว่า ethnic cleansing ต่อสถานการณ์ในบริเวณดังกล่าว และออกมาตรการตอบโต้รัฐบาลเอธิโอเปีย ด้วยเช่นกัน