รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มตระหนักว่าหลายประเทศกำลังเพิกเฉยต่อคำเตือนของสหรัฐฯ เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่มาพร้อมกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ 5G ของบริษัทหัวเหว่ย (Huawei)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายประเทศต่างแข่งกันจับมือกับหัวเหว่ยเพื่อติดตั้งเครือข่าย 5G ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยได้เริ่มทดสอบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ 5G ของบริษัทหัวเหว่ยที่จังหวัดชลบุรี โดยเจ้าหน้าที่ของทางการไทยระบุว่าสาเหตุที่เลือกหัวเหว่ยเพราะมีราคาถูกกว่าบริษัทอื่น แม้มีคำเตือนจากสหรัฐฯ เรื่องความเสี่ยงจากการถูกสอดแนม
ส่วนที่ฟิลิปปินส์ บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมรายใหญ่ Globe Telecom ก็กำลังเปิดตัวเครือข่าย 5G โดยมีความร่วมมือกับหัวเหว่ย
เช่นเดียวกับบริษัท Maxis ของมาเลเซีย ที่เพิ่งลงนามในบันทึกความเข้าใจกับหัวเหว่ย เพื่อร่วมพัฒนาเครือข่าย 5G ในมาเลเซียเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อดีตเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของสหรัฐฯ 6 คน ร่วมกับออกแถลงการณ์เตือนถึงความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่มาพร้อมกับเครือข่าย 5G ของบริษัทจีน ที่มีต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยระบุว่า "มีความกังวลว่าในอนาคต สหรัฐฯ จะไม่สามารถใช้เครือข่ายที่พึ่งพาเทคโนโลยีของจีนเพื่อกิจการด้านการทหารในดินแดนหรือประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงในยุโรป และเอเชีย"
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีหลังจากการประชุมขององค์การนาโต้ในกรุงวอชิงตัน เตือนว่าในอนาคต บางประเทศในยุโรปที่ยังยืนกรานทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจากจีน อาจถูกตัดขาดจากเครือข่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ หากการวิเคราะห์ความเสี่ยงพบว่ามีอันตรายมากเกินไปที่จะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองนั้น
แพทริก เมอร์ฟีย์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องการแบ่งปันข้อมูลความเสี่ยงจากเทคโนโลยีของหัวเหว่ย ให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ได้รับทราบ จากประสบการณ์ของสหรัฐฯ เอง
ด้านคุณดีน เช็ง นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบัน Heritage Foundation ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า หัวเหว่ยคือหนึ่งในบริษัทเอกชนของจีนที่พร้อมทำตามคำสั่งของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศ ทั้งในด้านการทหาร การเงิน และเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำเตือนของรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ได้ผลมากนักในการจูงใจประเทศพันธมิตร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่ผ่านมา สหรัฐฯ เองที่มักเป็นฝ่ายถูกวิจารณ์เรื่องการสอดแนมประเทศอื่น
คุณริชาร์ด เครเมอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยี Arete ชี้ว่า ช่วงหลายปีมานี้ มีการเปิดเผยหลายครั้งว่ารัฐบาลอเมริกันได้ร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคมเพื่อลอบเก็บข้อมูลลับต่างๆ
ดังนั้นจุดยืนของสหรัฐฯ ในกรณีหัวเหว่ยจึงดู "ย้อนแย้ง" เพราะในขณะที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้จีนสอดแนมตนเองและประเทศประเทศพันธมิตร แต่สหรัฐฯ กลับเป็นฝ่ายที่ต้องการสอดแนมจีนเสียเอง