เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน มีแผนจะเชิญผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญจากกรุงโซล และจากสหรัฐฯ ให้ร่วมสังเกตการณ์เมื่อเกาหลีเหนือปิดการทำงานของสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ในเดือนพฤษภาคมนี้
โฆษกของประธานาธิบดีเกาหลีใต้แถลงในวันอาทิตย์ โดยอ้างอิงคำพูดของผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน ที่ว่า “สหรัฐฯ จะรับทราบอย่างถ่องแท้หลังจากมีการเจรจากัน ว่าตนไม่ใช่คนที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ”
ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวแสดงความหวังในด้านบวก ต่อแผนการเจรจาสุดยอดระหว่างตนกับผู้นำคิม ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.นี้เช่นกัน
ปธน.ทรัมป์ ทวีตข้อความในวันเสาร์ หลังการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน และนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโซ่ อาเบะ ว่าผู้นำทั้งสองคนต่างเล็งเห็นประโยชน์จากการเจรจาสุดยอด สหรัฐฯ - เกาหลีเหนือ
และในคืนวันเสาร์ ปธน.ทรัมป์ กล่าวต่อผู้สนับสนุนที่รัฐมิชิแกนว่า การประชุมระหว่างตนกับผู้นำคิม น่าจะเกิดขึ้นภายใน 3 – 4 สัปดาห์จากนี้
ก่อนหน้านี้ ผู้นำหลายคนในรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างแสดงความหวังว่าความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีที่ดำเนินมากว่า 60 ปี อาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว รวมถึงตัวประธานาธิบดีทรัมป์เองที่กล่าวระหว่างการประชุมแถลงข่าวร่วมกับนายกฯ เยอรมนี อังเกล่า เมอร์เคิล ว่าตนไม่คิดว่า “ผู้นำคิม จอง อึน กำลังเล่นเกม” และว่าทั้งสองประเทศกำลังพิจารณาเลือกสถานที่ที่จะจัดการประชุมสุดยอด โดย ปธน.ทรัมป์ บอกว่า เวลานี้มีตัวเลือกอยู่ 3 แห่ง แต่มิได้ระบุชื่อสถานที่เหล่านั้น
เมื่อวันศุกร์ ผู้นำของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ พบกันและจับมืออย่างอบอุ่น ที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเส้นแบ่งพรมแดนที่แยกสองประเทศออกจากกันมานานหลายสิบปี ก่อนที่จะมีการหารือร่วมกัน ซึ่งทั้งสองเกาหลีตกลงกันว่าจะปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และจะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไปเพื่อทำให้สงครามเกาหลีสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ในอดีตเกาหลีเหนือเคยรับปากในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว แต่ก็มิได้กระทำตามที่พูด แต่ ปธน.ทรัมป์ ยืนยันว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ไม่เหมือนกับชุดก่อนๆ และจะไม่มีการเล่นเกมใดๆ” และว่า “หากสหรัฐฯ ไม่ได้ทุกอย่างตามต้องการ ก็จะเดินออกจากการเจรจาทันที”
ที่ผ่านมา ทั้งทำเนียบขาวและเพนตากอนต่างระบุถึงความก้าวหน้าทางการทูตจากมาตรการกดดันเกาหลีเหนือขั้นสูงสุด ซึ่งรวมถึงการลงโทษทางเศรษฐกิจ และการขู่ว่าจะใช้มาตรการทางทหาร
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงเคลือบแคลงว่า ในที่สุดแล้ว เกาหลีเหนือจะมีนัยแอบแฝงจากท่าทีที่โอนอ่อนนี้หรือไม่ หรือเกาหลีเหนือจะมีข้อเสนอและเงื่อนไขอะไรในการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ และอีกด้านหนึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะยินยอมทำตามข้อเสนอของเปียงยางหรือไม่
ถึงกระนั้น รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พลเอกจิม แมททิส กล่าวอย่างมองโลกในแง่ดีว่า “เวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะยุติความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
ในขณะเดียวกัน รมต.แมททิส ก็มิได้ตัดโอกาสที่กองทัพสหรัฐฯ จะเรียกทหารอเมริกันทั้งหมดกลับจากเกาหลีใต้ หากรัฐบาลกรุงโซลและกรุงเปียงยางสามารถจัดทำข้อตกลงกันได้จริงๆ
(ผู้สื่อข่าว Jeff Seldin รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)