กองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ หรือ Pacific Command เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิก” หรือ “Indo-Pacific Command” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยายปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ เข้าไปในมหาสมุทรอินเดีย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จิม แมททิส ประกาศการเปลี่ยนชื่อกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก เป็น “กองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิก” ในวันพุธ ระหว่างพิธีแต่งตั้ง พลเรือเอก ฟิลลิป เอส เดวิดสัน (Philip S. Davidson) ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการคนใหม่ของ Pacific Command (PACOM) ภายใต้ชื่อใหม่คือ Indo-Pacific Command (indo-PACOM)
พลเอกแมททิส กล่าวว่า เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่กองบัญชาการแห่งนี้ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่นเดียวกับในปัจจุบันที่ต้องสะท้อนถึงนโยบายทางทหารของอเมริกา ที่มุ่งไปทางตะวันตกมากขึ้น
Pacific Command คือหนึ่งในหกของกองบัญชาการหน่วยรบผสมของสหรัฐฯ และเป็นกองบัญชาการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีอาณาเขตการปฏิบัติการกว้างขวางที่สุด ตั้งแต่ชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย และจากขั้วโลกเหนือลงไปถึงทวีปแอนตาร์กติกา
เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพื่อให้แสดงถึงพื้นที่ความรับผิดชอบของกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิก ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่จะไม่มีการเคลื่อนย้ายกำลังทหารหรือยุทโธปกรณ์ใดๆ รวมทั้งไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์ของกองทัพอเมริกัน นอกจากนี้จะไม่มีผลต่อพื้นที่ความรับผิดชอบและการบัญชาการต่างๆ เนื่องจากเวลานี้ Pacific Command ได้ปฏิบัติการครอบคลุมถึงมหาสมุทรอินเดียอยู่แล้ว
ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มักใช้คำว่า “อินโด-แปซิฟิก” ในการสื่อถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นความพยายามให้ความสำคัญกับมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดีย
ศาสตราจารย์ เทย์เลอร์ ฟราเวิล (Taylor Fravel) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ชี้ว่า การเปลี่ยนชื่อกองบัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกครั้งนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนยุทธศาสตร์เปิดเสรีพื้นที่แถบอินโด-แปซิฟิก ของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาล ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แทบมิได้พูดถึงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับเอเชียเท่าใดนัก ซึ่งต่างจากนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อน ที่มีนโยบายสร้างสมดุลใหม่ในเอเชียแปซิฟิกเป็นนโยบายหลัก
สำหรับผู้บัญชาการคนใหม่ของ Indo-Pacific Command คือ พลเรือเอก ฟิลลิป เอส เดวิดสัน เข้ามารับตำแหน่งแทน พลเรือเอก แฮร์รี แฮร์ริส (Harry Harris) ที่ได้รับเลือกจากทำเนียบขาวให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ คนต่อไป
ภารกิจหลักของพลเรือเอกเดวิดสัน คือการรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีนในแถบเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายประเทศในแถบนี้
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยืนยันหนักแน่นถึงเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ รวมทั้งในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เช่น หมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลีย์
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ประกาศการตัดสินใจที่จะไม่เชิญจีนเข้าร่วมการซ้อมรบทางทะเลขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิกที่ชื่อว่า RIMPAC 2018 โดยให้เหตุผลว่า พฤติกรรมของจีนที่สั่นคลอนความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ไม่สอดคล้องกับหลักการของการซ้อมรบที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำในครั้งนี้
(ผู้สื่อข่าว William Gallo รายงานจากฮาวาย / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)