การระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เกิดวิกฤติการขาดแคลนพยาบาลในสหรัฐฯ จนโรงพยาบาลหลายแห่งต้องยอมเพิ่มค่าแรง เพื่อดึงตัว "พยาบาลสัญจร" มาช่วยดูแลผู้ป่วยในช่วงฤดูร้อน
สำนักข่าว Associated Press รายงานว่าปัญหาการขาดแคลนพยาบาลดังกล่าว เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ การที่พยาบาลลาออกหรือเกษียณ หลังจากที่ต้องลำบากตรากตรำ ท้อแท้และหมดกำลังใจ จากการที่ต้องรับมือกับการระบาดของโควิดที่ยาวนานข้ามปี ในขณะเดียวกัน ่พยาบาลบางส่วนได้ลาออกจากงานประจำ เพื่อไปเป็น “ทราเวล เนอร์ส” (travel nurse) หรือ "พยาบาลสัญจร" กับบริษัทที่ให้บริการจัดสรรพยาบาลไปทำงานตามที่ต่าง ๆ เป็นเวลาชั่วคราว ซึ่งให้ค่าแรงต่อสัปดาห์มากกว่าการเป็นพยาบาลประจำที่ใดที่หนึ่งประมาณ 5,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 162,000 บาท หรือมากกว่านั้น
ดร. ฟิลลิป คูล หัวหน้าแพทย์ประจำโรงพยาบาล Augusta University Medical Center ในรัฐจอร์เจียบอกว่าเขาได้เห็นพยาบาลประมาณ 20-30 คน ลาออกไปเป็นพยาบาลสัญจร จนแพทย์บางคนถึงกับเปรยว่าอยากลาออกไปเป็นพยาบาลดูบ้าง ทางโรงพยาบาลจึงต้องนำเอาพยาบาลในสังกัดจากรัฐอื่นมาทำงานในรัฐจอร์เจีย และเพิ่มค่าแรงให้พยาบาลเหล่านี้เป็นพิเศษ
ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของพยาบาลสัญจร หรือ travel nurse ได้พุ่งสูงขึ้นจากประมาณสัปดาห์ละ 1,000 ถึง 2,000 ดอลลาร์ก่อนการระบาดของโควิด-19 ไปเป็น สัปดาห์ละ 3,000 ถึง 5,000 ดอลลาร์ ตามการรายงานของ Aya Healthcare บริษัทที่ให้บริการด้านบุคลากรการแพทย์ ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
โซเฟีย มอร์ริส รองประธานของ Aya Heathcare กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทเปิดรับสมัครพยาบาลสัญจรถึง 48,000 ตำแหน่ง
ในขณะที่นายเจมส์ ควิก ประธานบริษัทคู่แข่ง SimpliFi กล่าวว่า โรงพยาบาลที่บริษัทของเขาร่วมงานด้วยกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนพยาบาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลาง มีตำแหน่งพยาบาลแบบประจำว่างหลายสิบตำแหน่ง ในขณะที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่มีตำแหน่งพยาบาลว่างหลายร้อยตำแหน่ง
การที่ค่าจ้างพยาบาลเคลื่อนที่ได้พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้โรงพยาบาลที่ไม่มีงบประมาณมากพอต้องเจอกับปัญหาใหญ่
ลอรา เคลลี ผู้ว่าการรัฐแคนซัส เผยว่าโรงพยาบาลในการดูแลของรัฐเสี่ยงที่จะถูกโรงพยาบาลจากรัฐอื่นที่มีเงินหนากว่าแย่งตัวพยาบาลไปด้วย “ทุ่ม” เงินค่าจ้าง เธอยังกล่าวด้วยว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีเตียงผู้ป่วยที่ไม่มีพยาบาลดูแล
ส่วนที่เมืองแคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี โรงพยาบาล Truman Medical Centers มีพยาบาล 10 คนแล้วที่ตัดสินใจผันตัวไปเป็นพยาบาลสัญจร ทำให้โรงพยาบาลต้องหันไปจ้างพยาบาลสัญจรมาทำหน้าที่แทนพยาบาลเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องยากที่โรงพยาบาลจะแข่งขันกับบริษัทนายหน้า ที่ทำหน้าที่จัดหาพยาบาลเคลื่อนที่เหล่านี้โดยเฉพาะ บริษัท หรือเอเย่นต์เหล่านี้เรียกเก็บเงินค่าจัดสรรพยาบาลแก่โรงพยาบาล 165 ถึง 170 ดอลลาร์ ต่อพยาบาลหนึ่งคน ต่อการทำงานหนึ่งชั่วโมง และหักค่านายหน้าในอัตราที่สูง โดยตัวพยาบาลสัญจรเอง จะได้ค่าจ้างสุทธิประมาณชั่วโมงละ 70 ถึง 90 ดอลลาร์ ซึ่งก็ยังถือเป็นค่าตอบแทนที่มากกว่าที่โรงพยาบาลทั่วไปจ่ายให้กับพยาบาลในสังกัด 2-3 เท่า
นาย ชาร์ลี ชีลด์ ประธานกรรมการบริหารของ Truman Medical Centers กล่าวว่าบริษัทเหล่านี้กำลังหาผลประโยชน์จากความต้องการพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น เขาไม่อยากใช้คำว่า “ขูดรีด” แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น คือการที่โรงพยาบาลจะต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
รัฐเท็กซัสได้นำเอาพยาบาลสัญจรกว่า 6,000 คนเข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาลในรัฐ แต่ในขณะที่มีพยาบาลสัญจร 19 คนเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในวันเดียวกันมีรายงานว่ามีพยาบาลในโรงพยาบาลนั้นถึง 20 คน ที่ยื่นจดหมายลาออก เพื่อไปทำงานเป็นพยาบาลสัญจรบ้าง ตามการให้ข้อมูลของสมาคมโรงพยาบาลแห่งเท็กซัส ส่วนพยาบาลคนที่เหลือที่ยังไม่ได้ลาออก ก็ได้เห็นว่าพยาบาลสัญจรได้ค่าแรงมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันตึงเครียด
คิม เดวิส เป็นพยาบาลคนหนึ่งที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่โรงพยาบาลในรัฐอาร์คันซอ เพื่อไปเป็นพยาบาลสัญจรในช่วงที่เพิ่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ช่วงเวลา 14 เดือนหลังจากนั้น เธอมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการผันตัวไปเป็นพยาบาลที่เดินทางไปทำงานดูแลผู้ป่วยในแผนกฉุกเฉิน ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐฟลอริดา
เธอสามารถนำรายได้เหล่านั้นมาชำระหนี้ได้หมด รวมทั้งเงินกู้จากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาประมาณ 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,620,000 บาท
เดวิสเล่าว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ก็เธอก็ได้ผันตัวไปเป็นพยาบาลสัญจรเช่นเดียวกัน พวกเธอให้เหตุผลว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำงานเดิม ที่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง หากจะต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว พวกเธอขอที่จะได้ค่าตอบแทนงาม ๆ ดีกว่า
นอกจากเหตุผลเรื่องเงินแล้ว ผู้นำด้านสาธารณสุขยังมองว่า พยาบาลหลายคนต้องทำงานอย่างหนัก และมีความอึดอัดคับข้องใจที่ต้องถูกขอให้ทำงานเกินเวลาอยู่บ่อยครั้ง บางคนถูกตะคอกใส่ หรือถูกคนอื่น ๆ ตั้งคำถาม สงสัย หรือไม่เชื่อใจในการตัดสินใจของพวกเขาตลอดเวลา นอกจากนั้นยังต้องรับมือกับผู้ป่วยที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนต้านโควิดหรือสวมหน้ากากอนามัย และเมื่อทำงานเสร็จแล้ว ก็ต้องออกไปเจอกับสังคมที่ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโควิด-19 และไม่สนใจความเจ็บปวดและความตายที่เกิดจากโควิด-19 อีกด้วย
แพทริเซีย พิตต์แมน ผู้อำนวยการ Fitzhugh Mullan Institute for Health Workforce Equity แห่ง George Washington University ยังเสริมด้วยว่า พยาบาลหลายคนยังคงบ่มความไม่พอใจต่อโรงพยาบาลที่พวกเขาทำงานประจำ ที่บังคับให้พวกเขาทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงแรกที่เกิดการระบาด โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอให้กับพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
พยาบาลเหล่านี้จึงมองว่า หากพวกเขาไม่ได้รับการดูแลและการเคารพ พวกเขาก็เลือกที่จะไปเป็นพยาบาลสัญจรเสียดีกว่า เพราะถึงแม้จะต้องทนทำงานหนักตัวเป็นเกลียวติดกัน13 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้น ก็มีเงินพอที่จะหยุดยาวสองสามเดือน เพื่อไปพักผ่อน หรือทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ