พ่อแม่ในยุคปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะคิดถึงการจัดสรรเวลาให้ลูกได้เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเวลาที่ใช้อยู่บนหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้เรียกว่า screen time
สมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ American Academy of Pediatrics หรือ AAP เคยแนะนำว่า เด็กเล็กจนถึงวัยรุ่นไม่ควรได้รับ screen time เกินสองชั่วโมงต่อวัน แต่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนข้อแนะนำเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
สมาคม AAP ออกแถลงการณ์ที่เสนอข้อคิดหลายประการที่น่าสนใจ
ประการแรก AAP เสนอว่า ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่าสองขวบการใช้สื่อดิจิทัล ยกเว้นแต่เฉพาะวิดีโอแช็ท (Video Chat)
ประการที่สอง สำหรับเด็กอายุปีครึ่งถึงสองปี เด็กกลุ่มนี้ควรดูสื่อที่มีคุณภาพสูง แต่ไม่ควรปล่อยพวกเขาวัยนี้มี screen time เพียงลำพัง นอกจากนั้นไม่ควรใช้สื่อเหล่านี้ทำให้ลูกวัยดังกล่าวสงบ
หากว่าเป็นเด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี ควรได้ screen time ไม่เกิน 1 ชั่วโมง สำหรับรายการมีคุณภาพ และพ่อแม่ควรดูร่วมกับเด็ก
ส่วนเด็กตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป ควรมีกฎเรื่อง screen time โดยควรอยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อการพักผ่อน การออกกำลังกาย และพฤติกรรมด้านสุขภาพโดยรวม
สมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ บอกด้วยว่า ครอบครัวยุคใหม่ควรจัดสรรเวลาร่วมกันนอก screen time
แม้ว่า APP ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับ จะให้รายละเอียดคำแนะนำอย่างที่กล่าวมา แต่นักวิชาการ คริสโตเฟอร์ เฟอร์กูสัน ที่สอนวิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Stetson ในรัฐฟลอริด้า ตั้งคำถามถึงความเชื่อถือได้ของคำกล่าวที่ว่า “เวลา screen time ที่มากเกินไป จะส่งผลร้ายจริงๆ ต่อเยาวชน”
เขาบอกว่าปัจจุบันยังไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะยืนยันถึงผลร้ายที่เป็นสมมุติฐานของนักวิชาการหลายคนในขณะนี้
อาจารย์เฟอร์กูสันกล่าวว่า ปัจจุบันยังมีความคิดแบบ zero-sum game หรือความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกันอย่างสมบูรณ์ ที่ว่าหากเด็กมีเวลา screen time มากขึ้น พวกเขาจะลดเวลาที่ให้กับการเรียนหนังสือ
อาจารย์เฟอร์กูสัน ตั้งคำถามถึงการด่วนสรุปที่เด็ดขาดในลักษณะนี้
อันที่จริงการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญที่อังกฤษ เคยระบุว่าพฤติกรรมด้านลบ เช่น ความก้าวร้าวและอาการใจหดหู่ เพิ่มขึ้นเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ในเด็กที่ใช้เวลา screen time อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน
เมื่อทราบถึงงานวิจัยชิ้นนี้จากอังกฤษ อาจารย์เฟอร์กูสัน จึงทำการวิจัยกับเยาวชนในสหรัฐฯ โดยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 6 พันราย ในรัฐฟลอริด้า เยาวชนกลุ่มนี้มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ปี และหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ออกแบบแบบสอบถาม
การวิจัยนี้ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Psychiatric Quarterly พบว่า ผลกระทบด้านพฤติกรรมอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน กล่าวคืออาการเพิ่มขึ้นของภาวะซึมเศร้าอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลต่อเกรดที่ต่ำลง อยู่ในระดับร้อยละ 1.2
คำแนะนำส่งท้ายมาจากสมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ ที่กล่าวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรรู้สึกกดดันว่าลูกๆ ควรเรียนรู้วิธีเล่นสื่อและอุปกรณ์สมัยใหม่ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะเด็กยุคปัจจุบันสามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าไม่เคยเล่นมาก่อนสมัยยังเป็นเด็กอ่อน
(รายงานโดย Jessica Berman and Anna Matteo / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)