ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เสียงถกเถียงให้ปิดเรือนจำอ่าวกวนตานาโมดังขึ้นอีกครั้ง หลังจาก ISIS เผยแพร่วีดิโอสังหารตัวประกันอย่างโหดเหี้ยม


Activists from the antiwar group CodePink hold a silent protest at the Senate Armed Services Committee during a hearing in Washington on the fate of the Guantanamo Bay detention center, Feb. 5, 2015.
Activists from the antiwar group CodePink hold a silent protest at the Senate Armed Services Committee during a hearing in Washington on the fate of the Guantanamo Bay detention center, Feb. 5, 2015.

นักวิเคราะห์เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตัวประกันทุกคนที่กลุ่ม ISIS สังหาร ต่างสวมชุดนักโทษสีส้มซึ่งเหมือนกับชุดนักโทษที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโม

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:17 0:00
Direct link

รองปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ Brian McKeon ให้การต่อคณะกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ตัวประกันทุกคน รวมทั้งนักบินจอร์แดนและตัวประกันชาวญี่ปุ่นที่ถูกขบวนการรัฐอิสลาม ISIS สังหารอย่างโหดเหี้ยมในวีดิโอที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ต่างแต่งชุดนักโทษสีส้ม ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของนักโทษที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโม

ที่ผ่านมารัฐบาลประธานาธิบดี Barack Obama พยายามผลักดันให้มีการปิดเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโม โดยให้เหตุผลว่าเรือนจำอ่าวกวนตานาโมได้ทำลายเกียรติของอเมริกา และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ทั่วโลก

แต่นักการเมืองอเมริกันหลายคนยังไม่ปักใจเชื่อในเรื่องนี้ รวมทั้ง ส.ว Angus King ผู้ตั้งคำถามว่า เรื่องไหนที่อันตรายกว่ากัน? ระหว่างการเปิดทำการเรือนจำอ่าวกวนตานาโมต่อไปแล้วทำให้กลุ่มก่อการร้ายมีสมาชิกเพิ่มขึ้น หรือการปิดเรือนจำดังกล่าวแล้วทำให้เกิดความเสี่ยงที่อดีตนักโทษเรือนจำแห่งนี้จะกลับไปร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายอีกครั้ง

ส.ว King อ้างรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ว่า เกือบ 30% ของอดีตนักโทษกว่า 600 คนที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอ่าวกวนตานาโม ได้กลับเข้าร่วมในปฏิบัติการก่อการร้ายอีกหรือต้องสงสัยว่าทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯยืนยันว่าตัวเลขนี้ลดลงเหลือไม่ถึง 10% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ถึงกระนั้น ยังมีวุฒิสมาชิกอเมริกันอีกหลายคนที่เชื่อว่า เรือนจำอ่าวกวนตานาโมควรเปิดทำการต่อไป ส.ว Tom Cotton จากพรรครีพับลิกัน ผู้เคยเข้าร่วมในสงครามอิรัก กล่าวว่าสำหรับตนแล้ว ปัญหาเดียวที่กวนตานาโมคือยังมีนักโทษน้อยเกินไป ตนคิดว่ายิ่งมีนักโทษก่อการร้ายที่กวนตานาโมมากเท่าไร อเมริกาก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้น

เรือนจำอ่าวกวนตานาโมเริ่มเปิดใช้หลังเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโจมตีอเมริกาเมื่อปี ค.ศ 2001 สิบกว่าปีที่แล้วมีนักโทษอยู่ที่เรือนจำแห่งนี้เกือบ 800 คน ปัจจุบันเหลืออยู่ราว 100 กว่าคน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งมีกำหนดจะได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลสหรัฐฯระบุว่าจะไม่มีการส่งตัวนักโทษไปที่เรือนจำแห่งนี้อีก ทำให้เกิดคำถามว่านักโทษอีกหลายสิบคนที่นั่นจะถูกนำไปกักขังที่ไหนเมื่อเรือนจำถูกปิดไป ซึ่งตามกฏหมายของสหรัฐฯ จะไม่สามารถส่งตัวนักโทษก่อการร้ายเหล่านั้นมาดำเนินคดีในอเมริกาได้

แต่ทาง ส.ว Joe Manchin จากพรรคเดโมแครต เชื่อว่าควรมีการปรับเปลี่ยนกฏหมายที่ว่านี้ และบอกด้วยว่าค่าใช้จ่ายสำหรับนักโทษแต่ละคนที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโม สูงกว่า 3 ล้านดอลล่าร์ต่อปี เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายสำหรับนักโทษในสหรัฐฯ ที่ตกไม่เกิน 100,000 ดอลล่าร์ต่อปี

เวลานี้ คณะกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งมี ส.ว John McCain เป็นประธาน กำลังพิจารณาร่างกฎหมายที่จะห้ามมีการปล่อยตัวนักโทษที่เรือนจำอ่าวกวนตานาโมในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงมากมายในรัฐสภาอเมริกัน

รายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ Michael Bowman / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

XS
SM
MD
LG