รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศขับนักการทูตรัสเซีย 10 คนออกจากสหรัฐฯ พร้อมกับเพิ่มมาตรการลงโทษต่อพลเมืองชาวรัสเซียและนิติบุคคลอีกกว่า 30 ราย สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว และการลอบเจาะล้วงข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ
มาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ถือเป็นการตอบโต้ครั้งแรกต่อรัฐบาลเครมลิน หลังจากเกิดการเจาะล้วงข้อมูลหน่วยงานสหรัฐฯ อย่างน้อย 9 แห่งผ่านการส่งซอฟต์แวร์พ่วงไวรัส ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่าเป็นการกระทำของแฮกเกอร์ในรัสเซียที่มีเป้าหมายเจาะล้วงข้อมูลข่าวกรองของรัฐบาลอเมริกัน โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่า SolarWinds ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระทรวงสำคัญหลายแห่ง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ได้อนุมัติปฏิบัติการพิเศษเพื่อช่วยให้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งอีกสมัย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
สำหรับมาตรการลงโทษล่าสุดนี้ครอบคลุมถึงบริษัทเทคโนโลยี 6 แห่งในรัสเซียซึ่งเชื่อว่ามีส่วนสนับสนุนกิจกรรมของรัสเซียในโลกไซเบอร์ ตลอดจนบุคคลและนิติบุคคลอีก 32 รายที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมทั้งการกระจายข้อมูลเท็จ
ในส่วนของนักการทูตรัสเซีย 10 คนที่ถูกขับออกนอกประเทศนั้น มีเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองของรัฐบาลรัสเซียรวมอยู่ด้วย ตามการเปิดเผยของทำเนียบขาว
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนเพิ่งประกาศมาตรการลงโทษชุดแรกต่อรัสเซีย สืบเนื่องจากเหตุการณ์วางยาพิษและจับกุมคุมขังผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลรัสเซีย นายอเล็กเซ นาวาลนี โดยครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงและระดับกลางของรัสเซียรวม 7 คน และนิติบุคคลอีกมากกว่า 12 แห่ง
สำหรับมาตรการลงโทษชุดล่าสุดของสหรัฐฯ ที่นำมาใช้กับรัสเซีย เกิดขึ้นในขณะที่กำลังมีความตึงเครียดรอบใหม่บริเวณพรมแดนรัสเซียกับยูเครน เมื่อมีรายงานว่าทหารรัสเซียจำนวนมาก พร้อมรถถังและขีปนาวุธ ถูกส่งไปประจำการตามแนวพรมแดนด้านที่ติดกับยูเครน
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า เมื่อวันอังคาร ปธน.ไบเดน ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย และได้เน้นย้ำถึงพันธกิจของสหรัฐฯ ในการสร้างเอกภาพและความมั่นคงเหนือดินแดนให้แก่ยูเครน รวมทั้งแสดงความกังวลเรื่องที่รัสเซียส่งทหารไปประจำการตามแนวพรมแดนติดกับยูเครนด้วย
แถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุว่า ปธน.ไบเดน มีความกังวลว่า สถานการณ์อันตึงเครียดในภูมิภาคนี้อาจจะยกระดับรุนแรงขึ้น จึงตัดสินใจยกหูโทรศัพท์หา ปธน.ปูติน เพื่อเสนอให้ทั้งสองมาร่วมพูดคุยกันในพื้นที่ประเทศที่สาม
โดยผู้นำสหรัฐฯ ยังยืนยันเป้าหมายที่จะสร้าง “ความสัมพันธ์ที่มั่นคงและพอจะคาดคะเนทิศทางได้” กับรัสเซีย และกล่าวว่า การประชุมที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จะมีการหยิบยก “ประเด็นอันหลากหลายครบถ้วน” ที่ทั้งสองประเทศมหาอำนาจเผชิญหน้าอยู่ ขึ้นมาพูดคุยด้วย