ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิกฤติโควิด-19 กับการเปลี่ยนแปลง 7 ประการต่อการเมืองสหรัฐฯ


Supporters of U.S. President Donald Trump cheer at the start of his first re-election campaign rally in several months in the midst of the coronavirus disease (COVID-19) outbreak, at the BOK Center in Tulsa, Oklahoma, U.S., June 20, 2020.
Supporters of U.S. President Donald Trump cheer at the start of his first re-election campaign rally in several months in the midst of the coronavirus disease (COVID-19) outbreak, at the BOK Center in Tulsa, Oklahoma, U.S., June 20, 2020.
US Election Campaign
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:28 0:00


การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่ยังดำเนินอยู่นี้ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ของชาวอเมริกันเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะวิถีทางการเมืองที่ปกติจะคึกคักเป็นพิเศษ ในช่วงการพบปะหาเสียงของตัวแทนพรรคการเมืองและประชาชนก่อนเลือกตั้งสำคัญช่วงปลายปีนี้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน

พรรคเดโมแครตในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำประเทศในการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ มีกำหนดจัดงานประชุมใหญ่ Democratic National Convention เป็นระยะเวลานาน 4 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ แต่สิ่งที่ต่างจากทุกครั้งในปีนี้คือ จะไม่มีการจัดงานที่เมืองมิลวอกี้ รัฐวิสคอนซิน แต่ทุกอย่างจะเป็นไปในรูปแบบเสมือนจริง ซึ่งหมายความว่า จะไม่มีใครได้เห็นภาพกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครวมตัวกันถือป้ายและส่งเสียงเชียร์ว่าที่ตัวแทนพรรค อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ขณะได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ เพราะทุกคน รวมทั้ง ว่าที่ผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ วุฒิสมาชิก คามาลา แฮร์ริส จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ต้องเดินหน้ารักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

สถานกาณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องยอมรับเช่นกัน หลังพรรครีพับลิกันตัดสินใจไม่จัดงานประชุมประจำปีเต็มรูปแบบในสัปดาห์ถัดไปที่เมืองชาร์ล็อตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยเจ้าหน้าที่และสมาชิกจำนวนหนึ่งของพรรคจะมีการรวมตัวกันพอเป็นพิธีเพื่อเสนอชื่อ ปธน.ทรัมป์ เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งเพื่อป้องกันตำแหน่ง ขณะที่ ผู้นำสหรัฐฯ จะกล่าวสุนทรพจน์ยอมรับการเสนอชื่อจากทำเนียบขาวแทน แม้ว่าจะประสงค์จะเห็นผู้สนับสนุนเต็มสถานที่จัดงานด้วยตาตนเองก็ตาม

โดยปกติ ในฤดูกาลเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้น ตัวแทนพรรคทั้งหลายจะต้องจัดงานหาเสียงทั้งที่เป็นขนาดใหญ่และขนาดเล็กในหลายพื้นที่ เพื่อพบปะกับผู้สนับสนุนทุกระดับชั้นตามงานกิจกรรมหลากหลาย อาทิ งานเทศกาลท้องถิ่น หรือแม้แต่ตลาดนัดเกษตร ไปจนถึงการจัดงานเลี้ยงค็อกเทล และการเดินสายเคาะประตูบ้านเพื่อทักทายประชาชน แต่ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องของอดีตแล้วเสียแล้ว

สถาบัน American Enterprise Institute ให้ความเห็นว่า วิกฤติโควิด-19 ได้ให้บทเรียนหลายประการแก่ชาวอเมริกัน ที่อาจกลายมาเป็นสิ่งที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตด้วยซ้ำ

1. ปัญหาใหญ่ของประเทศ

บทเรียนแรกที่ชัดเจนที่สุดคือ สำหรับผู้มีสิทธิ์ลงเสียงจำนวนไม่น้อย การเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะไม่ใช่เรื่องของการกาชื่อและพรรคที่ชื่นชอบเพียงเท่านั้นอีกต่อไป

ในส่วนของทีมงานของปธน.ทรัมป์ แม้ว่าการหาเสียงจะมีแรงส่งที่ดีตั้งแต่ต้นปี ด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำและสภาพเศรษฐกิจที่ดี แต่หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ระดับการว่างงานในประเทศพุ่งถึงระดับเดียวกับเมื่อครั้งเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรับมือการระบาดของผู้นำสหรัฐฯ แล้ว

2. ภาพการประชุมใหญ่ที่หดหาย

ประเด็นถัดไปคือ ภาพการจัดงานประชุมใหญ่ที่หดหายไป ซึ่งมักเป็นภาพคุ้นตากันในปีเลือกตั้ง และเป็นจุดที่ช่วยกระตุ้นคะแนนนิยมของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้บ้าง แม้จะไม่มาก

ไคล์ คอนดิค นักวิเคราะห์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย ให้ความเห็นว่า การที่ตัวแทนพรรคจะหวังรอเสียงสนับสนุนจากงานประชุมหาเสียงต่างๆ ในปีนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหามาก เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากได้ตัดสินใจไปแล้ว โดยผู้สนับสนุนที่เหนียวแน่นของพรรคใดก็จะขอเลือกพรรคของตนอย่างแน่นอน

แต่สำหรับตัวพรรคเอง เรื่องนี้น่าจะหมายถึงแผนระดมทุนที่เข้าเป้ายากกว่าปกติ ขณะที่เจ้าหน้าที่พรรคซึ่งต้องการใช้โอกาสการจัดงานเสริมสร้างความผูกพันในกลุ่มผู้สนับสนุนให้เข้าใจเป้าหมายและยุทธศาสตร์ก็ต้องผิดหวังกันไป

3. การยกเลิกเวทีหาเสียง

การจัดงานเพื่อเปิดเวทีให้ตัวแทนพรรคและสมาชิกพรรคขึ้นกล่าวปราศรัยต่อหน้าผู้สนับสนุน และเพื่อโน้มน้าวผู้ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ ถูกยกเลิกไปโดยปริยายเพราะวิกฤติโควิด-19 และทำให้ทีมงานหาเสียงของทุกฝ่ายต้องพยายามคิดค้นวิธีดึงความสนใจของประชาชนแบบใหม่ๆ ด้วย

จอห์น ฮูดัก นักวิจัยอาวุโสจาก American Enterprise Institute กล่าวว่า การที่ไม่สามารถเปิดเวทีหาเสียงได้นั้นน่าจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับฝั่งปธน.ทรัมป์ มากกว่าฝั่งของอดีตรองปธน.ไบเดน เพราะผู้นำสหรัฐฯ ชื่นชอบการพบผู้สนับสนุนและรับรู้ถึงพลังแห่งเสียงเชียร์มาก

4. งานระดับทุนแบบเสมือนจริง

และเพราะไม่มีใครสามารถจัดงานเพื่อพบปะทั้งผู้สนับสนุนและผู้บริจาคได้ ทีมงานหาเสียงต้องเร่งหันไปหาวิธีระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ ที่ทำให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่สามารถพบปะและโปรยเสน่ห์กับใครในระหว่างงานจัดเลี้ยงอาหารเย็นราคาแพงได้เหมือนเก่า

แต่ คาร์ลิน บาวแมน นักวิจัยอาวุโสอีกรายจาก American Enterprise Institute เชื่อว่า กรณีนี้ไม่น่าจะมีผลต่อความพยายามระดมทุนของพรรคใดมาก และข้อมูลจาก National Public Radio ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการระดมทุนรวมกันได้แล้วกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์

5. การรณรงค์ให้ออกมาใช้สิทธิ์

โดยปกติ ทีมงานหาเสียงจากทุกพรรคจะออกพบปะประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเชิญชวนให้ออกมาใช้สิทธิ์ แต่ปีนี้ วิธีการดังกล่าวน่าจะไม่เกิดขึ้นมาก และทั้งสองพรรคใหญ่หันมาพึ่งพาสื่อโทรทัศน์ ไปรษณีย์ และการโฆษณาออนไลน์ เพื่อการนี้เป็นอย่างมาก แม้ว่าทางฝั่งพรรครีพับลิกันจะยังออกไปเคาะประตูบ้านประชาชนอยู่ ขณะที่ ผู้สนับสนุนพรรคจำนวนไม่น้อยจะดูไม่ค่อยกังวลกับสถานการณ์การระบาดมาก

อย่างไรก็ตาม ไคล์ คอนดิค จากมหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย เชื่อ่วา วิธีออกไปเดินเคาะประตูบ้านนั้น แม้จะมีผลไม่มาก แต่สามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต่างออกไปได้ หากมีผู้ออกมาใช้เสียงมากขึ้นและอาจนำไปสู่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ด้วย

6. การลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

เช่นเดียวกับประเด็นการรณรงค์ข้างต้น การออกมาเชิญชวนประชาชนให้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้มากในปีนี้ หลังสำนักงานขนส่ง หรือ Department of Motor Vehicles หลายแห่งต้องปิดทำการชั่วคราวเพราะการระบาด โดยที่สำนักงานสาขาต่างๆ ของหน่วยงานนี้คือสถานที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่มักทำการลงทะเบียนเลือกตั้งเป็นประจำ ขณะที่ มีการยกเลิกกิจกรรมรณรงค์ตามงานเทศกาล ซุปเปอร์มาร์เก็ต และตามถนนหนทาง และสถานที่ที่ผู้คนนิยมไปกัน อย่างมาก

7. การลงคะแนนเสียงผ่านไปรษณีย์

ทางการในหลายรัฐเลือกที่จะเสนอให้ประชาชนลงคะแนนเสียงผ่านไปรษณีย์ เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการให้ผู้คนมารวมตัวกันที่หน่วยเลือกตั้ง แต่ปธน.ทรัมป์ กล่าวอ้างอย่างไม่ลดละโดยไม่มีหลักฐานมาประกอบ ว่า วิธีนี้จะทำให้เกิดการโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันจีงไม่สนับสนุนการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ไปโดยปริยาย

ฮูดัก จาก American Enterprise Institute กล่าวว่า เนื่องจากมีการคาดว่า ในปีนี้ มีผู้ที่ต้องใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ผ่าน Absentee Ballot เป็นจำนวนมากถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ความพยายามไม่ให้มีการลงคะแนนเสียงผ่านไปรษณีย์น่าจะเป็นตัวชี้วัดชัยชนะทั้งของตัวผู้ลงสมัครและตัวพรรค โดยเฉพาะพรรครีพับลิกันไม่น้อย ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความสบสันในวันเลือกตั้งด้วย

XS
SM
MD
LG