ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ สำหรับการเลือกตั้งใดๆ ก็ตาม คือ เงินสนับสนุนจากผู้บริจาคที่เป็นทั้งองค์กรและบุคคลซึ่งต้องเปิดเผยตัวตนเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่าเงินที่บริจาคมานั้นมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร
แต่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีนี้ กลุ่มสังเกตการณ์ที่ชื่อ Center for Responsive Politics ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตันและทำหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางเงินเข้า-ออกภาคการเมืองของประเทศ เปิดเผยว่า เงินที่มาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรรวมทั้งกลุ่มและองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมืองทำการบริจาคเงินให้กับโครงการหาเสียงในปีนี้มากขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์
สิ่งที่ Center for Responsive Politics ต้องการจะย้ำคือ ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ องค์กรใดๆ ที่จดทะเบียนเป็นหน่วยงานด้านสวัสดิการสังคมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนของผู้บริจาคเงินผ่านมาให้ ขณะที่เม็ดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นนี้อาจส่งผลต่อทิศทางของการเมืองในประเทศโดยที่ประชาชนไม่รู้ตัวเลย จนทำให้มีการเรียกงบอุดหนุนที่ไม่เปิดเผยที่มาชัดเจนนี้ว่าเป็น Dark Money หรือ “เงินมืด”
ข้อมูลที่กลุ่มสังเกตการณ์นี้รวบรวมมาได้ระบุว่า สำหรับช่วงฤดูกาลเลือกตั้งประจำปี ค.ศ. 2020 ที่ยังเดินหน้าอยู่นี้ มีการส่งผ่าน “เงินมืด” อย่างน้อย 177 ล้านดอลลาร์ให้แก่กลุ่มคณะกรรมการทางการเมืองอิสระ ที่มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Political Action Committees หรือ Super PACs โดยตัวเลขรับที่ยังไม่ครบฤดูกาลนี้น่าจะสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อกลับไปดูสถิติที่กลุ่ม Super PACs บริจาคเงินให้กับการหาเสียงทางการเมืองตลอดฤดูกาลเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไปถึง 178 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้น Center for Responsive Politics ระบุว่า กลุ่มที่ไม่เปิดเผยตัวได้ใช้ “เงินมืด” กว่า 19 ล้านดอลลาร์ไปกับการโฆษณาทางการเมืองโดยตรงไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ทางกลุ่มเชื่อว่า เงินโฆษณาเช่นนี้จะพุ่งสูงขึ้นอีกมากในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีนี้
แอนนา มาสโซเลีย นักวิจัยของ Center for Responsive Politics กล่าวว่า การใช้จ่ายโดยกลุ่ม Super PACs และกลุ่มก้อนอื่นๆ นอกวงการการเมืองที่รับเงินมาจากแหล่งที่ไม่เปิดเผยตัวน่าจะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในฤดูกาลเลือกตั้งช่วง 2 ปีจากนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี กลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และ Shell Company หรือ บริษัทเทียม ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์จากเงินประเภทนี้ ปฏิเสธที่จะเรียกเงินอุดหนุนนี้ว่าเป็น “เงินมืด” ซึ่งเริ่มก่อร่างขึ้นมาชัดเจนหลังศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. 2010 ว่า รัฐบาลไม่สามารถจำกัดการใช้จ่ายด้านกิจกรรมทางการเมืองโดยบริษัทหรือสหภาพแรงงานใดๆ ได้ ซึ่งทำให้เกิดวิถีการส่งเงินดังที่ว่านี้ผ่านองค์กรประเภทต่างๆ เช่น หอการค้าสหรัฐฯ ซึ่งรายงานการบริจาคเงินเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางสหรัฐฯ เพื่อใช้ในกิจกรรมการเลือกตั้งโดยตรง
สิ่งที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยการวิถีเช่นนี้กังวลคือ การเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคที่มีฐานะร่ำรวยแผ่อิทธิพลเพื่อให้ผลเลือกตั้งออกมาดั่งใจตนโดยที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ได้ตระหนักเลยแม้แต่น้อย
ไมเคิล เบ็คเคล ผู้อำนวยการงานด้านวิจัยแห่ง Issue One ซึ่งเป็นกลุ่มสังเกตการณ์ทางการเมืองที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกกับ วีโอเอ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัญหาที่เริ่มรุนแรงขึ้น เพราะเม็ดเงินหลายล้านดอลลาร์จะหลั่งไหลไปสู่กลุ่ม Super PACs ไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งจริง ขณะที่เงินบางส่วนนั้นมีที่มาอันเป็นปริศนาที่ประชาชนไม่ทราบเลยว่าใครเป็นผู้บริจาคมา
ในส่วนของผู้ที่ออกมาปกป้องการบริจาคเงินโดยไม่เปิดเผยที่มาของเงินนั้น ล้วนแก้ต่างว่า การกระทำเช่นนั้นมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาคตกเป็นเหยื่อการถูกข่มขู่หรือก่อกวนทางการเมืองต่างหาก ขณะที่ หอการค้าสหรัฐฯ หรือ กลุ่มองค์กรอื่นๆ ที่เป็นตัวกลางส่งเงินให้ Super PACs นั้น จะระบุเพียงว่า เงินทั้งหมดมาจากสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนตนเท่านั้น
แอนนา มาสโซเลีย นักวิจัยของ Center for Responsive Politics กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากการส่งเงินให้ Super PACs และองค์กรทางการเมืองอื่นๆ แล้ว ยังมีการใช้ “เงินมืด” เพื่อการลงโฆษณารณรงค์มากขึ้นด้วย โดยโฆษณาประเภทนี้จะหลีกเลี่ยงไม่ใช่คำว่า “โปรดลงคะแนนเพื่อ ...” หรือ “อย่าลงคะแนนให้...” ผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง เพียงแต่จะส่งสารที่ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมองผู้สมัครบางรายในมุมมองแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งการทำเช่นนั้นเป็นเหมือนการลงโฆษณากิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ผิดกฎของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งสหรัฐฯ เลย
รายงานข่าวระบุว่า กลุ่มองค์กร บริษัทเทียม และ Super PACs หลายแห่งได้ทำการส่งถ่ายเงินเพื่อสนับสนุนทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตกันมากมาย โดยที่เส้นทางที่มาของเงินทั้งหมดขาดความความโปร่งใส ซึ่งควรเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเงินเพื่อสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งในสหรัฐฯ ขณะที่คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบได้เลย
ไมเคิล เบ็คเคล ผู้อำนวยการงานด้านวิจัยแห่ง Issue One กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่สาธารณชนไม่ทราบที่มาของเม็ดเงินเหล่านี้ เพียงเพราะช่องว่างทางกฎหมาย อาจกลายมาเป็นหนทางที่ผู้ไม่ประสงค์ดีนอกสหรัฐฯ ใช้ในการแทรกแซงการเลือกตั้งได้ และจุดนี้ถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรง และควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน
ทั้งนี้ เบ็คเคล กล่าวว่า กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อความโปร่งใสทางการเมืองต่างๆ ต้องการให้สภาคองเกรสยกระดับเงื่อนไขการเปิดเผยข้อมูลนี้ ด้วยการผ่านกฎหมายใหม่ที่จะทำให้การตั้งบริษัทเทียมเพื่อปกปิดที่มาของเงินบริจาคเพื่อการหาเสียงซึ่งมาจากต่างประเทศเป็นอาชญากรรม เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามามีบทบาทกับการเมืองสหรัฐฯ ได้