ตัวเเทนจากพรรคเดโมเเครตและรีพับลิกันยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้เพื่อผ่าทางตันเรื่องการปรับเพดานหนี้สหรัฐฯ ขณะที่ใกล้เส้นตายขึ้นทุกขณะ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นการตั้งเกณฑ์ให้เคร่งครัดขึ้นสำหรับการรับสวัสดิการบรรเทาความยากจน
หากประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากพรรคเดโมเเครต และประธานสภาผู้เเทนราษฎร ส.ส.เควิน เเมคคาร์ธีย์ จากรีพับลิกันไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดการเพิ่มเพดานหนี้จาก 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ อาจผิดชำระหนี้ ซึ่งจะมีผลเชิงลบอย่างร้ายแรงและกว้างไกล ตามรายงานของรอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าตัวเเทนการเจรจาจากทั้งสองฝ่ายสามารถเข้าใกล้จุดที่ยอมรับเหตุผลกันได้ในประเด็นการปรับเพดานหนี้ขึ้นเป็นเวลาสองปี ภายใต้ความตกลงเรื่องการให้เงินสนับสนุนกองทัพเเละหน่วยงานหลักด้านการเก็บภาษีสหรัฐฯ หรือ Internal Revenue Service
ทั้งสองฝ่ายยังน่าจะตกลงกันได้ในเรื่องการจำกัดการใช้จ่ายในโครงการรัฐหลายโครงการ ตามรายงานของรอยเตอร์ที่อ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่ง
ส.ส. เเกร์เรต เกรฟส์จากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า "เรายังคงมีประเด็นหลัก ๆ ที่ เราจะไม่สามารถประสานจุดต่างได้ เช่นเรื่องเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์" ด้านสวัสดิการ
เจ้าหน้าที่อีกรายหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่าการเจรจาอาจยืดยาวไปถึงช่วงสุดสัปดาห์
ฝ่ายรีพับลิกันต้องการให้ผู้รับสวัสดิการสังคม เช่นประกันสุขภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อย และความช่วยเหลือด้านอาหาร ต้องมาพร้อมกับการเเสดงหลักฐานการทำงานหรือพยายามหางานทำ สำหรับประชาชนอายุต่ำว่า 56 ปีและไม่มีบุตร
อย่างไรก็ตามพรรคเดโมเเครตและประธานาธิบดีไบเดน ไม่ต้องการให้ทำเช่นนั้น
หน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณ Congressional Budget Office ที่ไม่ฝักใฝ่กลุ่มการเมือง ประเมินว่า การปรับเกณฑ์ให้เคร่งครัดอย่างที่รีพับลิกันเสนอ จะช่วยลดค่าใช้จ่าย 120,000 ล้านดอลลาร์ ในระยะเวลา 10 ปี ขณะเดียวกันก็จะทำให้ชาวอเมริกันกว่าหนึ่งล้านคนไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านั้น
ส.ส. เเมคคาร์ธีย์กล่าว "ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ที่คุณจะกู้งินจากจีน มาจ่ายให้ให้ประชาชน (เพื่อว่าเขาจะได้) อยู่แต่บ้าน ซึ่งเป็นประชาชนที่ทำงานได้และไม่มีผู้ที่ต้องเลี้ยงดู"
เเต่ฝ่ายเดโมเเครตเเย้งว่า ข้อเสนอของรีพับลิกันจะสร้างรายละเอียดทางราชการมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้คนที่มีสิทธิ์รับสวัสดิการไม่สามารถได้ใช้สิทธิ์ของพวกเขา
ทั้งนี้กระทรวงการคลังเคยเตือนว่า หากไม่มีการขยับเพดานกู้เงิน สหรัฐฯ จะไม่สามารถจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ โดยการผิดชำระหนี้ก้อนเเรกอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดวันที่ 1 มิ.ย. อย่างไรก็ตามกระทรวงฯ ระบุว่ามีแผนที่จะนำหนี้มูลค่า 119,000 ล้านดอลลาร์ออกขายทอดตลาด ในวันที่ครบกำหนดจ่ายคืน 1 มิ.ย.
โดยท่าทีดังกล่าวของกระทรวงคลังถูกตีความว่า 1 มิ.ย. เป็นเส้นตายที่ยังพอยืดหยุ่นได้ ตามรายงานของรอยเตอร์
- ที่มา: รอยเตอร์