ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์ผลกระทบต่อเอเชีย จากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ


The factory of JFE Steel Corporation is seen in Kawasaki near Tokyo, March 2, 2018.
The factory of JFE Steel Corporation is seen in Kawasaki near Tokyo, March 2, 2018.

นักวิเคราะห์ชี้มาตรการภาษีของทรัมป์อาจสร้างความขัดแย้งด้านการค้าระดับทั่วโลก

จีน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ชี้ว่า จีน “คัดค้านอย่างแข็งขัน” ต่อการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ

ขณะที่ญี่ปุ่นเตือนว่า มาตรการของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี

ส่วนเกาหลีใต้บอกว่า อาจจะร้องเรียนไปยังคณะกรรมการความขัดแย้งด้านการค้านานาชาติ ที่องค์การการค้าโลก หรือ WTO โดยเกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกเหล็กกล้าไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามหลังแคนาดาและบราซิล

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใส่ใจคำเตือนของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และสมาชิกพรรครีพับลิกัน โดยได้ลงนามในคำสั่งพิเศษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ปรับภาษีนำเข้าเหล็กกล้าขึ้นไปอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับอะลูมิเนียมที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ โดยกล่าวว่า จำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ

ทรัมป์ ได้ยกเว้นผู้นำเข้าเหล็กกล้าและอลูมิเนียมรายใหญ่สองชาติ คือ แคนาดาและเม็กซิโก ในขณะที่กำลังเจรจาเพื่อปรับเปลี่ยนข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA และประเทศอื่นๆ หลายชาติ รวมทั้ง ออสเตรเลีย อาจจะได้รับการยกเว้น

สหรัฐฯ เป็นชาตินำเข้าเหล็กกล้ารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยรวมทั้งหมด 35 ล้านตันเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในปีที่แล้ว โดย 6.6 ล้านตันมาจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย

ดร. วิสาร บุปผเวส นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เรียกมาตรการปรับภาษีนำเข้าที่มุ่งปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ ว่าเป็นสถานการณ์ที่แย่มาก

นักเศรษฐศาสตร์จาก TDRI กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอที่กรุงเทพฯ ว่า สหรัฐฯเป็นผู้นำในระบบข้อตกลงหลายฝ่าย เป็นผู้นำด้านการเปิดเสรีทางการค้า และมีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดกฏระเบียบที่ใช้ควบคุมดูแลการค้าระดับทั่วโลก แต่มาถึงตอนนี้ ปธน. ทรัมป์ ตัดสินใจทำผิดกฏระเบียบเหล่านี้เสียเอง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ FTI กล่าวว่า มาตรการของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรม กล่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นที่กรุงเทพฯ ว่า มีผู้ส่งออกหลักหลายชาติ อย่าง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน เวียดนาม และตุรกี ที่อาจจะหันมาส่งออกเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

ญี่ปุ่นส่งออกอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ ที่ 11 เปอร์เซ็นต์ จีนที่ 14 เปอร์เซ็นต์ และทั้งสองชาติถือเป็นชาติเอเชียผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดไปยังสหรัฐฯ และหากสองชาตินี้หันมาส่งออกไปยังเอเชียแทน ก็จะทำให้ผู้ผลิตในเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย เจอกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ถนอมศรี ฟองรุ่งอรุณ แห่งบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ในกรุงเทพ กล่าวว่า ไทยกำลังเจอกับการทุ่มตลาดเหล็กกล้าส่งออกจากจีนเป็นทุนอยู่แล้ว และตอนนี้เกิดความกังวลว่าอาจจะเจอกับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการด้านการค้าจากทวีปอื่นๆ เพื่อตอบโต้มาตรการปรับภาษีของสหรัฐฯ รวมทั้ง จากสหภาพยุโรป

แต่ ดร.วิสาร บุปผเวส แห่งสถาบันทีดีอาร์ไอของไทย ชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นการค้ากับจีน จะช่วยป้องกันภูมิภาคจากมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่มุ่งปกป้องการค้าของสหรัฐฯ เอง

และผลที่จะตามมาคือ บทบาททางเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตอรเลียและนิวซีแลนด์ อาจจะได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้นจากการตัดสินของผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้

บรรดานักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยธนาคารโลกเปิดเผยในรายงานผลการประเมินในเดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะโตที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งลดลงไปเล็กน้อยจาก 6.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG