การเดินทางทางอากาศในสหรัฐฯ กลับคืนสู่ภาวะปกติเกือบทั้งหมดตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดี หลังระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ส่งข้อมูลด้านความปลอดภัยไปยังนักบินล่มลงไปเมื่อวันก่อนหน้า และส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวทั่วประเทศไม่สามารถขึ้นบินได้ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ข้อมูล ณ ช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีตามเวลาในสหรัฐฯ ระบุว่า มีเที่ยวบินราว 150 เที่ยวที่ถูกยกเลิกและอีกกว่า 3,700 เที่ยวที่ล่าช้า โดยทั้งหมดนี้ถือเป็นพัฒนาการที่ดีกว่าเมื่อวันพุธที่กว่า 1,300 เที่ยวบินถูกยกเลิกและราว 11,000 เที่ยวประสบปัญหาล่าช้า
องค์การบริหารการบินของรัฐบาลสหรัฐฯ (FAA) เปิดเผยว่า ไฟล์ฐานข้อมูลที่เสียหายน่าจะเป็นต้นเหตุของภาวะขัดข้องของระบบเตือนภัยที่ว่า
FAA รายงานในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีด้วยว่า การวิเคราะห์เบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า เหตุระบบที่ล่มนั้นเกิดขึ้นหลังจาก “ไฟล์ข้อมูลได้รับความเสียหายโดยฝีมือของบุคลากรที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการทำงาน”
เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาซึ่งความอับอายอีกครั้งต่อหน่วยงานรัฐที่ดูแลกิจการด้านการบินของประเทศ ที่มักออกมาโต้เถียงกับสายการบินต่าง ๆ ว่า ใครคือผู้ก่อปัญหาความไม่สะดวกให้กับผู้โดยสารมากกว่ากัน โดยผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานนี้ ซึ่งมีทางสายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหลาย ย้ำว่า FAA มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีน้อยเกินไป
ส.ส.ริค ลาร์เซน จากรัฐวอชิงตัน ที่สังกัดพรรคเดโมแครตและเป็นสมาชิกคณะอนุกรรมาธิการด้านการบินของสภาล่าง ให้ความเห็นว่า ภาวะขัดข้องที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของเทคโนโลยีของ FAA และหน่วยงานนี้ความจะเร่งทำการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญได้แล้ว
แต่ ไมค์ แมคคอร์มิค อดีตผู้จัดการด้านความปลอดภัยทางอากาศของ FAA ที่เกษียณตัวไปเมื่อปี ค.ศ. 2017 หลังทำงานมานาน 35 ปี แสดงความเชื่อมั่นอย่างมากว่า เทคโนโลยีของหน่วยงานนี้ทันมัยเพียงพอ โดยกล่าวว่า FAA ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ของตนเองตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มีความทันสมัยถึง 95% รวมทั้งยังได้อัพเกรดมาใช้เทคโนโลยีดาวเทียมขั้นสูงสำหรับระบบนำทาง ระบบติดตามเที่ยวบินและระบบสื่อสาร
แมคคอร์มิค อ้างข้อมูลจากผู้ที่ยังทำงานอยู่ที่ FAA และกล่าวว่า ระบบส่งข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชื่อ NOTAMs หรือ Notice to Air Missions นั้นได้รับการอัพเกรดมาแล้ว แต่ภาวะขัดข้องที่เกิดขึ้นมาจากฝีมือของวิศวกรรายหนึ่งที่ดูแลระบบหลักและมีเหตุฐานข้อมูลเสียหาย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นข่าวร้ายที่ FAA ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอย่างมาก ในช่วงที่ทางหน่วยงานพยายามกู้ชื่อของตนที่เสียหายจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อกรณีที่ตนอนุมัติให้เครื่องบินโบอิ้ง 737 แมกซ์ ขึ้นบินโดยไม่ได้เข้าใจระบบควบคุมการบินที่เสียหายและเป็นสาเหตุของโศกนาฏกรรมเครื่องบินตก 2 ครั้ง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 346 คน
เรื่องนี้ยังส่งผลเสียต่อ พีท บุดดิเจ็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสหรัฐฯ ที่กำกับดูแล FAA เนื่องจากเจ้ากระทรวงคนปัจจุบันพยายามสั่งสอนลงโทษสายการบินที่ยกเลิกหรือสั่งเลื่อนเที่ยวบินมาโดยตลอด
- ที่มา: เอพี