เครื่องบินแบบไร้คนขับขนาดเล็กจะขึ้นบินสู่น่านฟ้าของประเทศระวันดาปลายปีนี้ เพื่อใช้ขนส่งกล่องบรรจุยารักษาโรคไปโปรยให้กับคลีนิคที่อยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกล
เครื่องบินโดรนที่ว่านี้สามารถลำเลียงน้ำหนักสัมภาระได้สูงสุดหนึ่งกิโลกรัมครึ่ง และเดินทางเป็นระยะทางรวมได้ 120 กิโลเมตร โดยจะทำการบินบนเส้นทางที่กำหนดเอาไว้ตายตัว และเมื่อเสร็จภารกิจ โดรนจะบินกลับไปยังฐานโดยอัตโมนัติ
โดรนขนส่งยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ทางอากาศนี้ สร้างโดยบริษัท Zipline ในรัฐเเคลิฟอร์เนีย หน่วยงาน GAVI Vaccine Alliance เป็นผู้จัดหาวัคซีน โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ UPS Foundation หน่วยงานเพื่อการกุศลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการจัดส่งสินค้าระดับโลก UPS
นาย Eduardo Martinez ประธานมูลนิธิ UPS Foundation กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับ UPS เขากล่าวว่าบริษัท UPS ให้บริการใน 220 ประเทศ และดินแดนต่างๆ ทั่วโลก เเละทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติหรือวิกฤติในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก อาทิ การเเพร่ระบาดของอีโบล่า ทางบริษัท UPS จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ดังนั้นทางบริษัทจึงพร้อมที่จะเเบ่งปันแหล่งทรัพยากร บุคลากร ตลอดจนความเชี่ยวชาญของบริษัท เพื่อช่วยให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบกอบกู้วิกฤติ
โครงการนี้มุ่งให้การสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ต้องการใช้ ทำได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายเหมือนกับการสั่งซื้อพิซซ่า
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถส่งข้อความสั่งเลือดและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จัดส่งจะจัดสินค้าลงกล่องกันกระเเทก บรรทุกของขึ้นโดรน สแกนรหัสที่ระบุจุดหมายปลายทางลงไปในโดรน
บริษัท Zipline ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลระวันดา คาดหวังว่าจะสามารถจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ได้วันละ 150 เที่ยว
นอกเหนือไปจากการให้บริการที่มีความจำเป็นเเล้ว โครงการนี้ยังช่วยให้บริษัท Zipline และ UPS สามารถจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเชื่อถือได้ ของการจัดส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของสำนักงานการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration) ว่าควรอนุญาตให้โดรนเป็นเครื่องมือจัดส่งวัสดุภัณฑ์ในสหรัฐฯ หรือไม่
หลายบริษัทรวมทั้ง Amazon กับ Google ต่างหวังว่า จะสามารถเสนอบริการขนส่งสินค้าด้วยโดรนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแก่ลูกค้า
และสำหรับนาย Martinez ประธานมูลนิธิ UPS Foundation เขาต้องการปรับใช้โดรนให้เป็นประโยชน์ในภาวะฉุกเฉิน นอกเหนือไปจากการขนส่งสินค้าตามออเดอร์ เขากล่าวว่าหากเกิดภัยพิบัติ เขาต้องการใช้โดรนในการสำรวจทางอากาศว่ามีประชาชนติดอยู่ในพื้นที่ประสบภัยจุดใดบ้าง หรือให้บริการขนส่งทางอากาศเเก่ชุมชนที่อยู่ในเขตความขัดเเย้งทางอาวุธ หรือประเทศที่ถนนหนทางทุรกันดาร หรือพื้นที่ประสบกับภาวะฉุกเฉินใดๆ ก็ตาม
เขาชี้ว่าการใช้โดรนขนส่งยาเเละเวชภัณฑ์ทางอากาศ โดยโปรยลงในจุดหมายที่ต้องการ จะมีราคาค่าดำเนินการที่ถูกกว่าการใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์อย่างมาก
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )