ประเทศฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยประเทศนี้ประสบกับพายุใต้ฝุ่นถึงปีละ 20 หน
กระทรวงการเกษตรแห่งประเทศฟิลิปปินส์ได้หันไปใช้เครื่องบินไร้คนขับ หรือโดรน ในการลดความรุนแรงของผลกระทบจากมหาพายุ อย่างพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน โดรนดังกล่าวติดตัวเซ็นเซอร์เพื่อร่างเเผนที่ และถ่ายภาพที่ดินทำกินของเกษตรกร และได้เริ่มออกบินทดสอบแล้วหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูล
นาย Christopher Morales ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามแห่งกระทรวงการเกษตรฟิลิปปินส์ กล่าวว่า เครื่องบินโดรนเหล่านี้ทำงานสำรวจพื้นที่ได้ถึงวันละ 600 เฮคเเตร์
เขากล่าวว่าก่อนหน้านี้ ทางการเน้นใช้ข้อมูลจากรายงานต่างๆ ของกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่เกินความเป็นจริง หรืออาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง
เขาชี้ว่าการใช้โดรนในการสำรวจพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ช่วยให้หน่วยงานมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์และเเนะนำทางเเก้ที่เหมาะสมเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ
ข้อมูลที่โดรนจัดเก็บได้ ช่วยแนะนำเกษตรกรได้ว่าควรจะสร้างผนังกั้น ระบบชลประทานหรือโรงนา ตรงจุดใด? ภาพที่โดรนถ่ายได้ยังสามารถช่วยเกษตรกรพิจารณาว่า ควรจะปลูกพืชชนิดที่ช่วยปกป้องที่ดินในจุดใด? หรือควรปรับวิธีการทำการเกษตรให้เหมาะกับลักษณะของที่ดินอย่างไร?
นาย Christopher Morales แห่งกระทรวงการเกษตรฟิลิปปินส์กล่าวว่า ในอนาคตหากรัฐบาลมีงบลงทุนในด้านนี้ ทางกระทรวงจะใช้โดรนในพื้นที่เสี่ยงต่อพายุไต้ฝุ่นอีกด้วย โดยจะใช้โดรนช่วยในการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าหนึ่งหรือสองวันก่อนหน้าที่พายุจะเดินทางถึงประเทศ เพื่อช่วยในการเตรียมตัวรับมือล่วงหน้า
ในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์กำลังประสบกับสภาวะอากาศเเห้งเเล้งครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยประสบมา ซึ่งสภาวะแห้งเเล้งนี้เลวร้ายมากขึ้นเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิลโญ่
ทางการฟิลิปปินส์กำลังร่วมมือกับภาคเอกชน ในการออกแบบและสร้างโดรนเพื่อใช้ในการสร้างฝนเทียมในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง
นาย Christopher Morales แห่งกระทรวงการเกษตรฟิลิปปินส์กล่าวว่า เมื่อสองปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเสียชีวิตในปฏิบัติการทำฝนเทียม เขาคิดว่าการใช้เครื่องบินไร้คนขับในปฏิบัติการทำฝนเทียม ยังช่วยป้องกันการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ได้อีกด้วย
นาย Morales หวังว่าจะสามารถนำเครื่องบินโดรนออกปฏิบัติการได้ทั่วประเทศในอนาคตอันใกล้ เขากล่าวว่าเครื่องบินไร้คนขับมีประสิทธิภาพสูง และจะช่วยให้มีการเตรียมตัวที่ดีขึ้นเพื่อรับมือกับพายุรุนแรง และช่วยลดผลกระทบที่รุนแรงลงมาได้
(เรียบเรียงทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)