ราวินา แชมดาซานิ โฆษกสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดแจ้งข้อหาผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย หลังมีผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คน รวมถึงเยาวชนอายุ 16 ปี ถูกตั้งข้อหาละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยระบุว่า การคุมขังบุคคลที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นการ “จับกุมหรือคุมขังโดยพลการ”
“เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดแจ้งข้อกล่าวหาร้ายแรงต่อบุคคลเพราะพวกเขาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” แชมดาซานิกล่าวในแถลงการณ์ “ประชาชนควรใช้สิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแก้เเค้น”
OHCHR ยังแสดงความกังวลเป็นพิเศษต่อการจับกุมผู้ประท้วงเยาวชนรายหนึ่งที่อายุ 16 ปี ซึ่งถูกตำรวจนำตัวขึ้นศาลเยาวชนเพื่อขอฝากขัง โดยศาลเยาวชนอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางเงินประกัน
OHCHR ยังได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้แก้กฎหมายมาตรา 112 ที่กำหนดบทลงโทษผู้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยผู้ละเมิดอาจต้องโทษจำคุก 3- 15 ปี
ให้เป็นไปตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
“กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รวมถึงคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่ตรวจสอบการนำ ICCPR ไปปฏิบัติ ได้เรียกร้องไทยหลายครั้งให้ปรับกฎหมายนี้้ (มาตรา 112) ให้เป็นไปตามข้อผูกมัดระหว่างประเทศที่ไทยตกลงไว้” แชมดาซานิกล่าว
“เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่หลังจากไม่มี (การบังคับใช้มาตรา 112 ในไทย) มาสองปี เรากลับเห็นการดำเนินคดีจำนวนมากอย่างทันทีทันใด และน่าตกใจที่มีเยาวชนถูกแจ้งข้อหาด้วย”
OHCHR ยังแสดงความกังวลถึงข้อกล่าาวหาทางอาญาอื่นๆ ที่ผู้ประท้วงเผชิญในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ รวมทั้งข้อหายั่วยุปลุกปั่น ความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทางการไทยได้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีต่อผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยกฎหมายมาตรา 112 หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ประกาศว่ารัฐบาลจะใช้ “กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น”
ก่อนหน้านี้มีการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ก็ตาม โดยกฎหมายมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ว่าด้วยการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนให้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ทางด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันกับวีโอเอไทยว่า กฎหมายมาตรา 112 นี้ไม่ได้มีจุดประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพทางวิชาการ หรือการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในลักษณะเดียวกับที่กฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้มีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย
"ขอย้ำอีกครั้งว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ผู้ประท้วงไม่ได้ถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ แต่ผู้ถูกจับกุมได้ละเมิดกฎหมายอื่นๆ ของไทย โดยผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ได้ถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว" นายอนุชากล่าว
เจ้าหน้าที่ไทยเคยให้เหตุผลว่ามีการยกระดับการปราศรัยและการแสดงออกของผู้ประท้วงที่พาดพิงสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจนทำให้ทางการต้องนำมาตรา 112 มาใช้ในช่วงนี้