หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้งโครงการอาหารโลก (World Food Program – WFP) และองค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) ได้ออกมาเตือนอย่างจริงจัง ผ่านรายงานฉบับล่าสุดที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมกันทำและมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ด้านอาหารของคนทั้งโลก ที่กำลังเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยรุมเร้า ทั้งปัญหาด้านสภาวะอากาศ ผลกระทบจากโควิด-19 รวมไปถึงสงครามในยูเครนที่ดันให้ราคาของเชื้อเพลิงและอาหารพุ่งสูงขึ้น
เดวิด บีสลีย์ กรรมการบริหารของโครงการ WFP กล่าวว่า วิกฤตินี้กำลังทำร้าย “คนที่จนที่สุด ในกลุ่มยากไร้” อีกทั้งยังคุกคามหลายล้านครัวเรือนที่มีรายได้แค่พอประทังชีวิต โดยในแถลงการณ์ล่าสุดนี้ บีสลีย์ยังชี้ว่า “สถานการณ์ในขณะนี้ เลวร้ายยิ่งกว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2011 รวมถึงย่ำแย่กว่าวิกฤติราคาอาหารในช่วงปี 2007 – 2008 ที่มี 48 ประเทศได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้านการเมือง การจลาจล และการประท้วง”
เขาเสริมว่า ผลกระทบของวิกฤติอาหารเริ่มปรากฏให้เห็นในประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน เปรู และศรีลังกา แต่สิ่งนี้เป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของสถานการณ์ทั้งหมด
ในรายงานยังได้กล่าวถึง “จุดที่มีประชากรเกิดความหิวโหยมากกว่าปกติ” โดยมีการเรียกร้องให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีการคาดว่า สถานการณ์จะเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
แถลงการณ์ร่วมจากหน่วยงานทั้งสอง ที่เกี่ยวข้องด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติ ประเมินด้วยว่า จะเกิดผลกระทบแบบฉับพลัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประสบปัญหาราคาสินค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น การผลิตอาหารที่ลดลง สืบเนื่องมาจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
องค์การสหประชาชาติได้อ้างอิงถึงพื้นที่ แอฟริกาตะวันออก ที่เผชิญปัญหาด้านสภาพอากาศ อย่างเช่น โซมาเลีย เอธิโอเปีย และเคนยา ซึ่งในอดีตไม่เคยต้องประสบกับภัยแล้งมาก่อน ขณะที่ ทางตอนใต้ของซูดาน ต้องเจอกับน้ำท่วมใหญ่ มาเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน
รายงานร่วมของ WFP และ FAO ยังได้พูดถึงสภาพอากาศที่น่ากังวล อย่างเช่น เขตรอยต่อซาเฮล ซึ่งเป็นพื้นที่แนวกว้างของแอฟริกาที่ทอดยาวไปทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา และพบว่า มีปริมาณน้ำฝนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และอาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของพายุเฮอร์ริเคนตามฤดูกาลในทะเลแคริบเบียนที่มีความรุนแรงขึ้น และปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยที่ลดลงในอัฟกานิสถาน ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ต้องผ่านความแล้งมาหลายฤดู เจอความรุนแรงอันเป็นผลมาจากความวุ่นวายด้านการเมือง ซึ่งรวมไปถึงการกลับมาปกครองของตาลิบันเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
รายงานดังกล่าวระบุว่า มีพื้นที่ 6 ประเทศที่กำลังต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติรุนแรง และอยู่ในสถานะที่ต้อง “เฝ้าระวังสูงสุด” อันได้แก่ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย ซูดานตอนใต้ เยเมน อัฟกานิสถาน และโซมาเลีย โดยข้อมูลชี้ว่า มีประชากรราว 750,000 คนที่กำลังเผชิญความอดยากจนเสียชีวิตในกลุ่มประเทศดังกล่าว และประชากรราว 400,000 คนในกลุ่มดังกล่าวนั้นใช้ชีวิตอยู่ในเขตพื้นที่การสู้รบทิเกรย์ของเอธิโอเปีย โดยหน่วยงานทั้งสองของ UN กล่าวว่า ตัวเลขนี้ถือว่า สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบเป็นรายประเทศ นับตั้งแต่เกิดทุพภิกขภัยในโซมาลีย ปี 2011
สำนักข่าวเอพี ยังอ้างถึงรายงานการศึกษาโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ได้รับการเปิดเผยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาและระบุว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างน้อย 1,900 คนในพื้นที่ทิเกรย์ฝั่งตะวันออกต้องเสียชีวิตลง เนื่องจากขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวไม่ได้รวมถึง ทิเกรย์ฝั่งตะวันตก ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังที่ส่งมาจากพื้นที่อัมฮารา
สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่ในกลุ่ม “น่ากังวลอย่างมาก” ได้แก่ คองโก เฮติ เขตซาเฮล ซูดาน และซีเรีย รวมถึงมีการเพิ่ม เคนยา เข้าไปในรายชื่อดังกล่าว ขณะที่ รายชื่อกลุ่มประเทศที่ต้องจับตา ประกอบไปด้วย ศรีลังกา เบนิน เคปเวิร์ด กินี ยูเครน และซิมบับเว โดยประเทศอย่าง แองโกลา เลบานอน มาดากัสการ์ และโมซัมบิก นั้นต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง
-
ที่มา: เอพี