เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยูเนสโก ซึ่งเป็นหน่วยงานทางด้านวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติได้ขึ้นทะเบียนให้เรือ ‘คลิงเกอร์’ (clinker) ของชาวนอร์ดิกแทบสแกนดิเนเวียเป็นมรดกโลกในหมวดองค์ความรู้ Intangible Cultural Heritage โดย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ล้วนเป็นประเทศที่ร่วมรับการยกย่องนี้จากยูเนสโก
สำนักข่าวเอพีอธิบายว่า ศัพท์คำว่า ‘คลิงเกอร์’ นั้น เป็นคำที่ใช้อธิบายการทับซ้อนกันของตัวแผ่นไม้เรือ
โดยสำหรับเรือ ‘คลิงเกอร์’ นั้น ช่างต่อเรือจะเสริมความแข็งแรงจากภายด้านในของลำเรือด้วยการใส่ส่วนประกอบจากไม้ เช่น ต้นโอ๊ค ที่บริเวณโครงเรือ ส่วนช่องว่างต่างๆจะได้รับการอุดด้วยน้ำมันดินหรือไขมันสัตว์ที่ผสมกับขนสัตว์และหญ้ามอส
ผู้สนับสนุนการยกย่องภูมิปัญญาการสร้าง ‘คลิงเกอร์’ ให้เป็นมรดกโลก ต่างหวังว่าจะช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมการต่อเรือต่อไป เนื่องจากช่างต่อเรือ ‘คลิงเกอร์’ มีจำนวนลดน้อยลง และชาวประมงยุคปัจจุบันก็ได้หันไปใช้เรือที่ผลิตจากใยแก้วแทน
โซเร็น นีลเส็น หัวหน้าการเก็บรักษาเรือที่พิพิธภัณฑ์ Viking Ship Museum ที่เมือง Roskilde ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตะวันออกของกรุงโคเปนเฮเกนในประเทศเดนมาร์ก กล่าวกับเอพีว่า “เราเห็นว่าทักษะการต่อเรือ ทักษะการล่องเรือ และภูมิปัญญาของคนขับเรือ…ได้เลือนลางหายไป” เพราะตอนนี้ มีเพียงช่างต่อเรือ ‘คลิงเกอร์’ ราว 20 คนในเดนมาร์กหรือเพียง 200 คนทั่วบริเวณยุโรปตอนเหนือเท่านั้น
พิพิธภัณฑ์ข้างต้นนั้นไม่ได้จัดแสดงเพียงแค่ซากเรือไม้ไวกิ้งแบบ ‘คลิงเกอร์’ จำนวน 5 ลำที่ถูกต่อมาเป็นด้วยเวลากว่าหนึ่งพันปีแล้วเท่านั้น แต่มีการลงมือต่อและซ่อมเรือของไวกิ้งแบบอื่นๆด้วย ซึ่งวิธีการต่อเรือนั้นต้องอาศัยความเข้าใจและการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมในยุคไวกิ้งโบราณ เช่น ความเร็วในการเคลื่อนที่ของเรือและจำนวนผู้โดยสาร
ทางด้าน ทรีโอน่า โซเร็นเซ็น ซึ่งทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ที่ Viking Ship Museum อธิบายว่า “การสร้างเรือด้วยการทับซ้อนกันของแผ่นไม้ ลำเรือจะมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงมากในเวลาเดียวกัน”
และแม้เทคนิคที่มีเอกลักษณ์ข้างต้นนี้จะปรากฎขึ้นครั้งแรกในยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) แต่ยุคที่เรือประเภทนี้เฟื่องฟูที่สุดคือยุคไวกิ้ง เนื่องจากในช่วงปี ค.ศ. 793 ถึง 1066 ซึ่งก็คือตอนที่ชาวไวกิ้งทำการโจมตี ล่าอนานิคมและค้าขายทั่วยุโรปจนถึงอเมริกาตอนเหนือนั่นเอง
ความเบา ความแข็งแรง และความพลิ้วไหวของเรือประเภทดังกล่าวจึงถือเป็นเครื่องพิสูจน์กาลเวลาในความสำเร็จของชาวไวกิ้งและได้ปูพื้นฐานในการสร้างอาณาจักรต่างๆ ทั่วดินเเดนเดนมาร์ก นอร์เวย์ และ สวีเดน
ในปัจจุบัน ผู้คนสามารถสัมผัสวัฒนธรรมเรือ ‘คลิงเกอร์’ ในยุโรปตอนเหนือได้ตามงานเทศกาลหรือประเพณีแข่งเรือต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าวัตถุประสงค์ของเรือประเภทนี้ต่างไปจากเมื่อพันกว่าปีก่อนมาก
ในขณะนี้ ชุมชน และถิ่นฐานวัฒนธรรมกว่า 200 แห่ง ลงชื่อรับการเสนอชื่อให้ ‘คลิงเกอร์’ เป็นมรดกโลก
นอกจากนี้ ยูเนสโกได้มอบหมายให้ประเทศทางยุโรปตอนเหนือมีหน้าที่ตรวจเช็คสภาพเรือเพื่อให้ภูมิปัญญานี้ ได้รับการสืบสานทางวัฒนธรรมต่อไป
- ที่มา: เอพี