ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ออสเตรเลียส่ง ‘โดรนใต้น้ำ’ สำรวจ ‘วิกฤติปะการังฟอกขาว’


“ไฮดรัส” (Hydrus) -- โดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบ AI
“ไฮดรัส” (Hydrus) -- โดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบ AI

แนวปะการัง ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ (Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก กำลังเผชิญปัญหาปะการังฟอกขาวรุนแรงอยู่ และล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ “โดรนใต้น้ำ” ที่ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อทำการสำรวจสถานการณ์ใต้ท้องทะเลแล้ว

“ไฮดรัส” (Hydrus) คือ โดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบ AI ถูกใช้ในการสำรวจแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่ตั้งบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียที่ซึ่งมีการพบว่า เกิดภาวะปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลที่โดรน Hydrus เก็บมาได้มีความแม่นยำและต่อเนื่องจึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น

โดรนใต้น้ำ “ไฮดรัส” (Hydrus) ถูกใช้ในการสำรวจแนวปะการัง Great Barrier Reef
โดรนใต้น้ำ “ไฮดรัส” (Hydrus) ถูกใช้ในการสำรวจแนวปะการัง Great Barrier Reef

เมลานี โอลเซน หัวหน้าโครงการ รีฟเวิร์คส์ (ReefWorks) จากสถาบัน Australian Institute of Marine Science (AIMS) เผยว่า “ทีมดำน้ำมีวิสัยการมองเห็นที่จำกัด เราได้พัฒนากระบวนการสำรวจ โดยดึงระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมาช่วย ทำให้เราขยายการเข้าถึงพื้นที่ที่ลึกลงไป สามารถปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อันตรายที่มีสัตว์นักล่าอาศัยอยู่ อย่างเช่น จระเข้ ฉลามหัวบาตร และแมงกะพรุน”

Hydrus เป็นโดรนใต้น้ำที่มาพร้อมระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เคลื่อนตัวได้มากกว่า 8 กิโลเมตรภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ทั้งยังดำดิ่งได้ลึกถึง 10,000 ฟุต บันทึกวิดีโอด้วยกล้องความละเอียดสูงด้วยความคมชัดระดับ 4K มีระบบโซนาร์ติดตั้งด้านหน้า และนำทางชี้ตำแหน่งด้วย AI

ปีเตอร์ เบเกอร์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ใต้ท้องทะเล จากบริษัท Advanced Navigation ระบุว่า มีการเทคโนโลยีโดรนใต้น้ำที่บริษัทพัฒนามาช่วยสร้างแผนที่สามมิติของแนวปะการังด้วย

ปีเตอร์ เบเกอร์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ใต้ท้องทะเล บริษัท Advanced Navigation
ปีเตอร์ เบเกอร์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ใต้ท้องทะเล บริษัท Advanced Navigation

เบเกอร์ เล่าถึงความร่วมมือดังกล่าวว่า "เรากำลังทำแผนที่แนวปะการัง ร่วมกับสถาบัน AIMS และสิ่งที่พวกเขาพยายามทำ คือ การสร้างแผนที่แนวปะการังเพื่อตรวจจับความเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่ที่กำหนดไว้ อันจะนำไปสู่การประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างแบบจำลองแนวปะการังทั้งหมด”

เขาเสริมว่า ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ คือ ระบบสามารถกลับไปยังตำแหน่งเดิมได้อย่างแม่นยำและบันทึกภาพจากมุมเดียวกันในทุกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากอย่างมากสำหรับนักดำน้ำที่เป็นมนุษย์

ภาพของแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลียที่ประสบภาวะฟอกขาว
ภาพของแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลียที่ประสบภาวะฟอกขาว

นับตั้งแต่ปี 1998 มา มีการพบว่า เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวกับแนวปะการัง Great Barrier Reef มากถึง 6 ครั้ง และนักสมุทรศาสตร์เชื่อว่า เหตุดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวปะการังจะกลับมาฟื้นตัวได้หากอุณหภูมิของน้ำลดลง แต่หากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน นั่นก็จะหมายถึงการตายของเหล่าปะการัง

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG