ลิ้งค์เชื่อมต่อ

 
ยูเอ็นปัดตกร่างมติ “ยุติสงครามยูเครน” ของสหรัฐฯ ที่ไม่ตั้งเงื่อนไขการถอนทัพรัสเซีย

ยูเอ็นปัดตกร่างมติ “ยุติสงครามยูเครน” ของสหรัฐฯ ที่ไม่ตั้งเงื่อนไขการถอนทัพรัสเซีย


ทูตนานาประเทศประจำยูเอ็น เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ เพื่อหารือกรณีการครบรอบ 3 ปีของสงครามยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซีย ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น ในนครนิวยอร์กซิตี้ เมื่อ 24 ก.พ. 2568
ทูตนานาประเทศประจำยูเอ็น เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ เพื่อหารือกรณีการครบรอบ 3 ปีของสงครามยูเครนที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซีย ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น ในนครนิวยอร์กซิตี้ เมื่อ 24 ก.พ. 2568

ในโอกาสครบรอบ 3 ปีของสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีมติเสียงส่วนใหญ่ในวันจันทร์ ปฏิเสธที่จะอนุมัติร่างมติซึ่งสหรัฐฯ นำเสนอและมีเนื้อความเรียกร้องให้มีการยุติสงครามดังกล่าว โดยไม่กล่าวถึงประเด็นการรุกรานของมอสโกแต่อย่างใด ตามรายงานของเอพี

ทั้งนี้ ร่างมติของสหรัฐฯ นั้นมีเพียงเนื้อหาเรียกร้องให้ “มีการยุติความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว และให้มีการสร้างสันติภาพอันยั่งยืนระหว่างยูเครนและสาธารณรัฐรัสเซีย”

แต่ในวันเดียวกัน การประชุมยูเอ็นมีมติอนุมัติร่างมติที่ประเทศในยุโรปหนุนและเรียกร้องรัสเซียให้ถอนทัพของตนออกจากอาณาเขตของยูเครนทันที แม้เงื่อนไขนี้จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คัดค้านก็ตาม

พัฒนาการนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทรัมป์บนเวทียูเอ็น แม้ว่ามติขององค์กรที่มีสมาชิก 193 ประเทศนี้ไม่ได้มีภาระผูกพันทางกฎหมายและเป็นเพียงมาตรวัดความคิดเห็นของประชาคมโลก แต่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแรงหนุนยูเครนที่ลดลง เมื่อพิจารณาจากผลการลงคะแนนเสียง 93 ต่อ 18 และมีผู้งดออกเสียง 65 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากการลงมติเมื่อคราวที่แล้วซึ่งมีประเทศสมาชิกสนับสนุนการประณามรัสเซียถึงกว่า 140 ประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามกดดันยูเครนให้ถอนร่างมติที่ยูเอ็นเพิ่งผ่านออกมา และให้ประเทศสมาชิกทั้งหลายมาสนับสนุนร่างของตนแทน แต่ยูเครนก็ยืนยันปฏิเสธจุดนี้ ขณะที่ ที่ประชุมสมัชชาฯ อนุมัติการแก้ไขเนื้อหาของร่างมติของสหรัฐฯ ตามข้อเสนอของประเทศในยุโรปให้มีการระบุชัดเจนว่า รัสเซียคือผู้ที่รุกรานประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรของยูเอ็น

ผลการลงมติแก้ไขร่างดังกล่าวจบลงด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 93 โดยมีเสียงคัดค้าน 8 ประเทศ ขณะที่ 73 ประเทศงดออกเสียง โดยยูเครนคือ 1 เสียงที่สนับสนุนและสหรัฐฯ และรัสเซียลงมติคัดค้าน

มาริอานา เบตซา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบโดยรัสเซีย เธอร้องขอให้ทุกประเทศยืนหยัดร่วมกันในการยึดมั่นตามกฎบัตรของยูเอ็นที่ระบุว่า ทุกประเทศต้องเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่น ๆ ซึ่งรวมความถึงการเคารพ “มนุษยชาติ” รวมทั้ง “ความยุติธรรม” และ “สันติภาพอันยั่งยืนที่มาจากความแข็งแกร่ง”

ขณะเดียวกัน โดโรธี เชีย รองทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวว่า มติที่ยูเอ็นออกมาหลายต่อหลายครั้งเพื่อประณามรัสเซียและเรียกร้องให้มีการถอนทหารรัสเซียนั้น “มีแต่ล้มเหลวในการยุติสงคราม” ซึ่ง “ลากยาวมานานเกินไปแล้ว และนำมาซึ่งความเสียหายรุนแรงล้นเหลือต่อผู้คนในยูเครน รัสเซียและประเทศอื่น ๆ”

เชียระบุว่า “สิ่งที่เราต้องมีคือ มติที่เน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกยูเอ็นในการทำให้สงครามยุติอย่างยั่งยืน”

นอกจากมติของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นแล้ว คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเลือกที่จะรักษาความเป็นกลางไว้ และรับรองมติที่สหรัฐฯ นำเสนอมา ซึ่งมีเนื้อหาระบุความสูญเสียของชีวิตใน “ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน” และตอกย้ำความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงและการหาทางออกของความขัดแย้งโดยสันติ และเรียกร้องให้มีการยุติปัญหานี้โดยเร็ว

โดโรธี เชีย รองทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กล่าวว่า “มตินี้ทำให้เราก้าวสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ เป็นก้าว ๆ แรก แต่เป็นก้าวสำคัญ ที่เราทุกคนควรภูมิใจ” และว่า “ในเวลานี้ เราต้องใช้(เส้นทางนี้)เพื่อสร้างอนาคตที่สันติให้แก่ยูเครน รัสเซียและประชาคมโลก”

มตินี้ได้รับเสียงสนับสนุน 10 เสียงจากสมาชิกคณะมนตรีที่มีทั้งหมด 15 ประเทศ โดย ฝรั่งเศส อังกฤษ เดนมาร์ก กรีซและสโลวีเนีย งดออกเสียง

ที่ผ่านมาคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นตกอยู่ในสภาพทำอะไรไม่ได้เนื่องจากรัสเซียใช้สิทธิ์วีโต้มติต่าง ๆ มาตลอด

อียูดำเนินมาตรการลงโทษรอบใหม่ต่อรัสเซีย

ในวันจันทร์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) อนุมัติมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจรอบใหม่ต่อรัสเซีย

หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศสหภาพยุโรป กายา กัลลัส กล่าวว่า มาตรการชุดใหม่จะมีส่วนที่พุ่งเป้าไปยังเรือต่าง ๆ ที่ละเมิดมาตรการจำกัดการขนส่งสินค้าเฉพาะประเภท รวมทั้ง ธนาคารที่หลีกเลี่ยงมาตรการที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้าและเครื่องมือที่ใช้ในการบังคับโดรน ด้วย

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน เรียกมาตรการลงโทษชุดใหม่ว่าเป็น “สิ่งที่คาดไว้แล้วทั้งหมด” และกล่าวด้วยว่า ดูเหมือนชาติยุโรปทั้งหลายจะต้องการให้สงครามยูเครน-รัสเซียดำเนินต่อไป

รายงานข่าวระบุว่า การต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายยังคงเดินหน้าในวันจันทร์ โดยรัสเซียระบุว่า ได้ยิงโดรนของยูเครนตกไป 23 ลำในช่วงข้ามคืนที่ผ่านมา

“ทรัมป์-มาคร็อง” หารือสงครามยูเครนที่ทำเนียบขาว

ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และปธน.เอ็มมานูเอล มาคร็อง จับมือในการแถลงข่าวร่วมที่ทำเนียบขาว เมื่อ 24 ก.พ. 2568
ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และปธน.เอ็มมานูเอล มาคร็อง จับมือในการแถลงข่าวร่วมที่ทำเนียบขาว เมื่อ 24 ก.พ. 2568

ปธน.ทรัมป์และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาคร็อง แห่งฝรั่งเศส นั่งหารือประเด็นสงครามยูเครน-รัสเซียที่ทำเนียบขาวในวันจันทร์ ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับจุดยืนในการทำให้สงครามที่ดำเนินมา 3 ปีนี้สิ้นสุดลง

ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมหลังการประชุม มาคร็องแสดงความชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ในหลายประเด็น โดยมีการระบุว่า รัสเซียนั้นเป็น “ผู้รุกราน” ในปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว และว่า “ประธานาธิบดี(วลาดิเมียร์) ปูติน ละเมิดสันติภาพ”

ทั้งนี้ ทรัมป์ปฏิเสธที่จะเรียกปูตินว่าเป็น “เผด็จการ” หลังจากเรียกเซเลนสกีว่าเป็นผู้นำเผด็จการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทรัมป์ระบุในการแถลงข่าวว่า อาจเดินทางไปพบกับปูตินด้วยตนเอง ทันทีที่มีการบรรลุข้อตกลงสงบศึกระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ มาคร็องกล่าวว่า ต้องมีการทำให้เกิดการหยุดยิงก่อนที่จะมีการเจรจาสันติภาพที่มีเงื่อนไขรับประกันความมั่นคง

อย่างไรก็ดี สองผู้นำเห็นพ้องกันว่า จะมีการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพยุโรปเข้าไปในพื้นที่สงครามหลังมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพแล้ว

  • ข้อมูลบางส่วนมาจากเอพี เอเอฟพีและรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG