ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้ความเห็นว่า คำสัญญาของรัฐบาลทหารเมียนมาว่า จะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในปีหน้านั้น เป็น “เรื่องน่าขันสิ้นดี” พร้อมเตือนประชาคมโลกไม่ให้หลงเชื่อแผนโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลายของกองทัพเมียนมาที่มีจุดประสงค์ทำให้การขึ้นมาปกครองประเทศของตนเป็นเรื่องที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย
ทอม แอนดรูว์ส ผู้แทนพิเศษยูเอ็นที่ดูแลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวว่า กองทัพเมียนมาพยายามอย่างหนักที่จะ “สร้างบรรยากาศความชอบธรรมตามกฎหมาย” ให้กับตนเอง หลังทำรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย ออง ซาน ซู จี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว
แอนดรูว์ส ระบุระหว่างร่วมงานแถลงข่าวที่ประเทศมาเลเซียในวันพฤหัสบดีว่า “การที่จะกล่าวแนะว่า อาจมีความน่าจะเป็นสำหรับการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมในเมียนมา ในปี ค.ศ. 2023 นั้น เป็นเรื่องน่าขันจริง ๆ ... คุณจะไม่มีทางจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้ หากยังจับฝ่ายตรงกันข้ามขังคุก ... เตรียมประหารชีวิตอยู่ นี่เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างมาก”
ผู้แทนพิเศษยูเอ็นยังกล่าวด้วยว่า “จักรกลโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขา (รัฐบาลทหารเมียนมา) ทำงานตลอดเวลา และจะพยายามแสวงหาแม้แต่เศษเสี้ยวของหลักฐานใด ๆ ก็ตามที่จะหาได้ เพื่อทำให้ทุกคนเชื่อว่า ประชาคมโลกยอมรับความชอบธรรมของตน และนี่เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และระวังตัวอย่างมากด้วยว่า เราจะไม่หลงติดกับดักโฆษณาชวนเชื่อเหล่านั้น”
หลังการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อต้นปีที่แล้วด้วยเหตุผลว่า มีการโกงมากมายในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด กองทัพเมียนมาแต่งตั้งสมาชิกใหม่เข้าร่วมคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะรับหน้าที่ดูแลการลงคะแนนเสียงที่จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมในปีหน้า
แอนดรูว์ส กล่าวว่า อาเซียนต้องเพิ่มการกดดันกองทัพเมียนมาให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ และปล่อยตัวนักการโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้ง ต้องยกระดับการดำเนินงานตามฉันทามติ 5 ข้อด้วยการระบุแผนงานและกรอบเวลาที่ชัดเจนลงไปด้วย เพราะ “ฉันทามติ 5 ข้อนั้นจะไร้ความหมาย หากมันจะเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นหนึ่ง ... โอกาสเดียวที่จะทำให้เกิดความแตกต่างได้ก็คือ การลงมือทำอย่างจริงจัง พร้อมยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ และกรอบเวลา”
ผู้แทนพิเศษยูเอ็นยังแสดงความชื่นชมต่อมาเลเซียที่พยายามทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเมียนมาที่จัดตั้งรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) ขึ้นหลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจการปกครองไป พร้อมขอให้ประเทศอื่น ๆ ดำเนินการเช่นเดียวกัน ด้วยการยอมรับว่า NUG นั้น คือ “องค์กรที่ชอบธรรม” ในการต่อสู้กับความโหดร้ายของกองทัพ
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาถูกต่อต้านอย่างหนักสำหรับการยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยหลังจากมีการสั่งให้ทหารและตำรวจใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านที่ดำเนินการด้วยความสงบ ก็เกิดการก่อเหตุจลาจลโดยกลุ่มติดอาวุธกระจัดกระจายไปทั่วประเทศ
ข้อมูลจากกลุ่ม Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ระบุว่า กองทัพเมียนมาสังหารผู้ชุมนุมและผู้อยู่ในเหตุการณ์ไปแล้วกว่า 2,007 คน ขณะที่ รัฐบาลทหารรายงานตัวเลขเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนดังกล่าว
- ที่มา: วีโอเอ