เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า Yanghee Lee กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในวันพฤหัสบดีว่า การเลือกตั้งในพม่าที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย จะถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการปฏิรูปประชาธิปไตยของพม่า
ในวันพฤหัสบดี พรรคฝ่ายค้านพม่าเดินขบวนในนครย่างกุ้ง และถูกกลุ่มชายหลายคนที่ใช้มีดเป็นอาวุธบุกจู่โจมทำร้าย หนึ่งในนักการเมืองส่วนท้องถิ่นของพรรคฝ่ายค้านซึ่งลงเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย ถูกทำร้ายจนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และมีผู้บาดเจ็บอีก 2 คน
คุณ Yanghee Lee แสดงความกังวลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมือง และว่าการเลือกตั้งที่โปร่งใสยุติธรรมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเหตุการณ์ลักษณะนี้ยังเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลว่าอาจมีการจับกุมคุมขังผู้ที่พยายามแสดงออกทางการเมืองในทางที่ตรงข้ามกับพรรครัฐบาล
เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติผู้นี้ยังระบุถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติทางศาสนาในพม่า หลังจากมีนักการเมืองหลายคนที่เป็นมุสลิมถูกกีดกันไม่ให้ลงเลือกตั้งครั้งนี้ และมีกลุ่มชาวมุสลิมที่ถูกห้ามไม่ให้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียง
คุณ Lee ระบุไว้ในรายงานที่ส่งให้สหประชาชาติว่า ผู้ที่ถูกกีดกันไม่ให้ลงเลือกตั้งส่วนใหญ่มาจากรัฐยะไข่ ขณะที่มีชาวพม่าราว 800,000 คนที่เคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ 2010 และ 2012 ถูกยกเลิกการต่ออายุใบลงทะเบียนชั่วคราว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งในเดือน พ.ย ในจำนวนมีทั้งคนเชื้อสายจีนและอินเดียรวมอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงจะจากรัฐยะไข่
คุณ Yanghee Lee ยังเตือนด้วยว่า ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ความขัดแย้ง เช่นรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐชิน อาจไม่สามารถเข้ารว่มในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกยิ่งขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง
เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าวส่งท้ายว่า แม้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าได้พัฒนาไปมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหลังการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในพม่า
แต่ยังคงมีเรื่องที่รัฐบาลพม่าต้องทำอีกมาก และเรื่องนี้ควรถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกในกระบวนการปฏิรูปของพม่า
(ผู้สื่อข่าว Margaret Besheer รายงานจากสหประชาชาติ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)