ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวว่าตนพร้อมสละตำแหน่งประธานาธิบดี หากการทำเช่นนั้นจะนำให้ยูเครนได้รับสันติภาพที่ยั่งยืนกลับมา ภายใต้ความเป็นพันธมิตรทางการทหารในองค์การนาโต้
ผู้นำยูเครนกล่าวในเวทีเสวนาของเจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนในกรุงเคียฟ เมื่อวันอาทิตย์ ในวาระครบรอบ 3 ปีที่รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเซเลนสกีกล่าวว่า “หากการได้มาซึ่งสันติภาพ คุณต้องการให้ผมยอมสละตำแหน่ง ผมก็พร้อม”
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าผู้นำยูเครนจะยอมแลกตำแหน่งปธน.กับสันติภาพของประเทศหรือไม่ เซเลนสกีตอบด้วยว่า “ผมสามารถแลกมันได้กับ(การที่ยูเครนเข้าร่วม)นาโต้”
ความเห็นของเซเลนสกีมุ่งเป้าไปที่ท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ที่แนะว่า ยูเครนควรจัดการเลือกตั้ง แม้ว่าภายใต้กฎอัยการศึกในประเทศจะห้ามไม่ให้จัดการเลือกตั้งก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ปธน.ยูเครน กล่าวว่า รัสเซียโจมตีด้วยโดรน 267 ครั้งในช่วงข้ามคืนวันเสาร์ ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่สงครามรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน
กองทัพอากาศยูเครน ระบุว่า ได้ยิงโดรน 138 ลำใน 13 เขตปกครองในยูเครน และอีก 119 ลำสูญหายไปก่อนถึงเป้าหมายการโจมตี อีกทั้งรัสเซียยังยิงขีปนาวุธวิถีโค้งอีก 3 ลูกในวันเดียวกันนี้ด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน ในเมืองคริฟยี ริห์
การโจมตีของรัสเซียในยูเครนเกิดขึ้นระหว่างที่รัฐบาลกรุงเคียฟและทั่วยุโรปปรับแนวทางเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศอย่างรวดเร็วของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งพลิกแนวทางการสนับสนุนยูเครนที่มั่นคงยาวนานมาหลายปีไปอย่างสิ้นเชิง และนำไปสู่ความกังวลว่าผู้นำสหรัฐฯ จะหารือการยุติสงครามยูเครนกับรัสเซีย โดยไม่มียูเครนและยุโรปเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจา
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การหารือระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียของคณะทำงานทรัมป์ และความเห็นชอบของทรัมป์ที่จะกลับมาเปิดช่องทางด้านการทูตและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลมอสโก ถือเป็นการกลับลำเชิงนโยบายของสหรัฐฯ อย่างมาก
ผู้นำยูเครนแสดงความกังวลว่าทรัมป์จะผลักดันให้บรรลุข้อตกลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ยูเครนเสียดินแดนและเสี่ยงต่อการถูกรุกรานจากรัสเซียในอนาคต แม้เจ้าหน้าที่อเมริกนจะย้ำว่าผู้นำยูเครนจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หากการเจรจาสันติภาพเริ่มต้นขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ได้สร้างความขุ่นเคืองในยูเครน หลังระบุว่ารัฐบาลกรุงเคียฟเป็นผู้เริ่มสงคราม และเซเลนสกีทำตัวเหมือนกับ “ผู้นำเผด็จการ” ด้วยการไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง แม้ว่าตามกฎหมายแล้วการเลือกตั้งในยูเครนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้กฎอัยการศึก
ในวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ยูเครนหารือข้อตกลงที่จะให้สหรัฐฯ เข้าถึงสินแร่หายากของยูเครน ตามข้อเสนอของคณะทำงานทรัมป์ ที่ผู้นำยูเครนปฏิเสธในตอนแรกเนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ขาดการรับประกันด้านความมั่นคงให้ยูเครน
ส่วนอังกฤษ เตรียมออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจใหม่กับรัสเซียในวันจันทร์ ซึ่งถือว่าเป็นแพคเกจที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน
ขณะที่ในสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง จะเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อโน้มน้าวให้ทรัมป์ไม่ทอดทิ้งยูเครนในความพยายามบรรลุข้อตกลงสันติภาพ โดยสตาร์เมอร์ ย้ำว่า “ไม่มีการหารือเกี่ยวกับยูเครนที่ปราศจากยูเครน และชาวยูเครนต้องมีอนาคตด้านความมั่นคงในระยะยาว”
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น