ชารอน พีค็อก หัวหน้ากลุ่มหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในอังกฤษ COVID-19 Genomics UK Consortium หรือ COG-UK กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อวันพุธว่า เชื้อโคโรนาไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ ที่พบในอังกฤษเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว กำลังระบาดไปทั่วประเทศ และอาจระบาดไปทั่วโลกได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมนี้ ถูกพบครั้งแรกในเขตปกครองเคนต์ ทางตอนใต้ของอังกษเมื่อเดือนกันยายน และต่อมาก็พบเชื้อไวรัสแบบใหม่นี้ในอีกกว่า 50 ประเทศ รวมถึงในสหรัฐฯ ด้วย
กลุ่มหน่วยงาน COG-UK ได้ติดตามการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมของเชื้อโคโรนาไวรัสนี้ โดยพีค็อกกล่าวว่า วัคซีนที่พัฒนาใหม่มีประสิทธิผลต่อไวรัสที่กลายพันธุ์ในปัจจุบัน แต่นักวิทยาศาสตร์ก็จะติดตามไวรัสที่กลายพันธุ์ไปอีกอย่างน้อย 10 ปีจนกว่าไวรัสจะ “กลายพันธุ์จนพ้นขีดอันตรายแล้ว”
ในขณะเดียวกัน ผลการศึกษาชิ้นใหม่ระบุว่า ยาสเตียรอยด์ชนิดสูดที่ใช้รักษาโรคหืดอาจช่วยให้ผู้เป็นโรคโควิด-19 ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยลง
นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทำการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระยะแรกเริ่ม 146 คน เป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งได้รับยาสูดที่มีส่วนประกอบของยาบูเดโซไนด์ และผู้ป่วยอีกครึ่งหนึ่งรับการรักษาแบบปกติ
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่รับยาบูเดโซไนด์ส่วนใหญ่ นอกจากจะไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว ยังหายจากโรคเร็วขึ้น และมีอาการหลังหายจากโรคน้อยกว่าผู้ป่วยอีกกลุ่ม
ผลการศึกษาฉบับนี้ยังไม่ได้รับการตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้เป็นผู้วิจัยงานดังกล่าว โดยการศึกษาจัดทำขึ้นหลังนักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีสัดส่วนที่น้อยในบรรดาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการษาในโรงพยาบาล ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในระยะแรก
ทางด้านนาย เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO และ เฮนเรียตตา ฟอร์ ผู้อำนวยการบริหารของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันพุธ เรียกร้องให้มีการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มเติม โดยเตือนว่า การแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกันจนน่าเป็นอันตราย
แถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าวระบุว่า กว่าสามในสี่ของวัคซีน 128 ล้านโดสที่ฉีดให้ประชาชนนั้น ถูกฉีดให้ประชาชนในเพียง 10 ประเทศ ที่มีมูลค่าจีดีพีรวมกัน 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีทั่วโลก และมีประเทศอีกเกือบ 130 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกัน 2,500 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่โดสเดียว
ผู้นำองค์กรทั้งสองระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ชีวิตจำนวนมากจะตกอยู่ในอันตราย ทำให้ไวรัสกลายพันธุ์และดื้อกับวัคซีนได้ และทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลกช้าลงไป
แถลงการณ์ยังเตือนให้ประเทศต่างๆ แก้ปัญหาแบบ “ข้ามพรมแดน” และใช้ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนที่จะสกัดได้ทั้งการระบาดของโรคและจำกัดการกลายพันธุ์ใหม่ของไวรัสให้น้อยลง
แถลงการณ์แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้าและประชาชนที่อยู่ในภาวะเปราะบางก่อน และขอให้ผู้ผลิตวัคซีนแจกจ่ายวัคซีนที่มีจำกัดอย่างเป็นธรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้ผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนทั่วโลก
เมื่อวันพุธ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษายุทธศาสตร์ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของ WHO ได้ออกแนวทางชั่วคราว แนะนำให้ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดสำหรับประชาชนอายุมากกว่า 65 ปีได้
แม้ประเทศยุโรปหลายประเทศ รวมทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศส จะจำกัดให้ประชาชนอายุ 18 –64 ปีที่รับวัคซีนดังกล่าวได้เท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อมูลของผู้รับวัคซีนในวัยสูงอายุยังไม่เพียงพอ แต่ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ก็ระบุว่า การทดลองและการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในประเทศที่รับวัคซีนนี้ เผยให้เห็นว่า วัคซีนชนิดนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิผลต่อผู้สูงอายุ โดยผู้รับวัคซีนควรรับวัคซีนแต่ละโดสห่างกัน 8-12 สัปดาห์