สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และอังกฤษ ร่วมคว่ำบาตรทางการทูตการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการส่งสารถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
สหรัฐฯ ระบุว่าจะคว่ำบาตรการแข่งขันที่จะจัดระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจาก “ความโหดร้าย” ด้านสิทธิมนุษยชนของจีน โดยท่าทีของสหรัฐฯ มีขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังสหรัฐฯ และจีนหารือเพื่อผ่อนคลายความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด
ทางด้านจีนระบุว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ “มีราคาที่ต้องจ่าย” และเตือนว่าจะมีมาตรการตอบโต้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดแต่อย่างใด
ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี กำลังหาทางผ่อนปรนการคว่ำบาตรทางการทูตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยนายโธมัส บัค ประธานไอโอซี ระบุว่า ทางไอโอซีกังวลถึงการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกของนักกีฬามาโดยตลอด และทางไอโอซียินดีต่อการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะสร้างความชัดเจนให้กับนักกีฬา
นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ระบุว่า จีนตระหนักถึงความกังวลของประเทศตะวันตกต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีน ดังนั้น การที่แคนาดาตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนทางการทูตเข้าร่วมงานดังกล่าวจึงไม่ควรเป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใด
ท่าทีของผู้นำแคนาดาเพิ่มความตึงเครียดให้กับความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดากับจีนที่ถึงจุดต่ำสุด นับตั้งแต่แคนาดาควบคุมตัวนางเหมิง ว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทหัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ ตามหมายจับของสหรัฐฯ
นางเหมิงถูกควบคุมตัวในที่พักในเมืองแวนคูเวอร์ โดยเธอพยายามสู้คดีมาเกือบสามปีเพื่อไม่ให้ถูกส่งตัวไปยังสหรัฐฯ ด้วยข้อหาฉ้อโกงธนาคาร
หลังนางเหมิงถูกควบคุมตัวเมื่อปีค.ศ. 2018 ไม่นาน ทางการจีนจับกุมชาวแคนาดาสองราย คือ นายไมเคิล คอฟริก และนายไมเคิล สเปเวอร์ ก่อนจะปล่อยตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทางด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ระบุเช่นกันว่า อังกฤษจะคว่ำบาตรทางการทูตในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวดังกล่าว โดยจะไม่ส่งรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ใด ๆ เข้าร่วม แต่อังกฤษจะยังคงส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน
ทางด้านนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ระบุว่า ออสเตรเลียตัดสินใจคว่ำบาตรครั้งนี้เนื่องจากออสเตรเลียประสบปัญหาในการเปิดช่องทางทางการทูตกับจีน เพื่อหารือถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ รวมถึงการที่จีนใช้มาตรการกีดกันสินค้านำเข้าของออสเตรเลีย เขาระบุด้วยว่า จีนไม่ตอบสนองต่อประเด็นต่าง ๆ ที่ออสเตรเลียแสดงความกังวลไป
จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาในเขตซินเจียง และระบุว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นเท็จ โดยนายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ตอบโต้ว่า ออสเตรเลีย “เล่นละครทางการเมือง” และไม่มีผู้ใดสนใจว่าออสเตรเลียจะส่งตัวแทนทางการทูตเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้หรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อปีค.ศ. 2018 ออสเตรเลียสั่งห้ามบริษัทหัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ จากการให้บริการเครือข่าย 5G ในประเทศ รวมทั้งสืบสวนหาที่มาของโรคโควิด-19 ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงกีดกันสินค้าจากออสเตรเลีย เช่น ข้าวบาร์เลย์ เนื้อวัว ถ่านหิน และไวน์
คณะกรรมการโอลิมปิกออสเตรเลียระบุว่า การคว่ำบาตรครั้งนีจะไม่ส่งผลต่อการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน และประเด็นด้านการทูตเป็นเรื่องที่รัฐบาลตัดสินใจเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ อื่นๆ ไม่ได้กระตือรือร้นต่อการร่วมคว่ำบาตรครั้งนี้เท่าใดนัก แม้ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาไม่ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีการแข่งขันครั้งนี้ก็ตาม ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ซันไก ชิมบุน เมื่อวันพุธ โดยอ้างแหล่งข่าวจากรัฐบาล
รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในเขตซินเจียง ในขณะที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยสหรัฐฯ มีกำหนดเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี ค.ศ. 2028 ที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย และเตรียมชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ค.ศ. 2030 ที่นครซอลท์เลกซิตี รัฐยูทาห์
การคว่ำบาตรทางการทูตของสหรัฐฯ ตามคำเรียกร้องของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ บางส่วนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนมีขึ้นแม้สหรัฐฯ และจีนพยายามสร้างเสถียรภาพของความสัมพันธ์ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้นำของทั้งสองประเทศเพิ่งประชุมแบบทวิภาคีทางวิดีโอออนไลน์ไป
- ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์