อโลค ชาร์มา (Alok Sharma) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของอังกฤษ กล่าวในวันจันทร์ว่า อังกฤษและสหภาพยุโรปยังคงมีความแตกต่างกันในการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่หลังการแยกตัวของอังกฤษ หรือ เบร็กซิต (Brexit) แต่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อไป
เมื่อคืนวันอาทิตย์ อังกฤษและอียูได้ตกลงกันว่าจะยืดเวลาออกไปเพื่อหาทางออกเรื่องการจัดทำข้อตกลงการค้า แม้ว่าเพิ่งผ่านกำหนดเส้นตายในการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวเมื่อคืนนี้
รมต.ชาร์มา กล่าวว่า "เราจะยังเดินหน้าหารือต่อไป แม้ว่าจะยังคงมีความเห็นแตกต่างในบางประเด็น แต่ก็จะยังไม่เดินออกจากการเจรจานี้" และว่าประชาชนและภาคธุรกิจของอังกฤษต่างต้องการให้ขยายเวลาและเพิ่มความพยายามในการเจรจา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่
รมว.ธุรกิจฯ ของอังกฤษยังกล่าวด้วยว่า "ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นกับอียูจะต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่าอังกฤษคือประเทศอิสระที่มีอธิปไตยของตัวเอง"
ทั้งนี้ อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 31 มกราคมปีนี้ แต่ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจของอียูจนถึงสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่าหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ก่อนวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็มีโอกาสเกิดความวุ่นวายในการซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากภาษีและอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ที่จะมีผลบังคับใช้ทันที
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อียูเกรงว่าการที่อังกฤษจะมีอิสระในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตนเองซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและนิติบุคคลในสหภาพยุโรป ทางรัฐบาลอังกฤษเองก็มองว่า การแยกตัวหรือ Blexit ครั้งนี้ คือการดึงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและการกำหนดทิศทางของประเทศได้อย่างอิสระกลับคืนมาจากการควบคุมของสหภาพยุโรปเช่นกัน
ขณะนี้มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ หนึ่งคือสิทธิของชาวยุโรปในการทำประมงในเขตน่านน้ำของอังกฤษ สองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ สามคือการจัดการข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษตามกระบวนการยุติธรรม
จากทั้งสามข้อที่ระบุมา ดูเหมือนข้อสองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ จะเป็นส่วนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกันมากที่สุด เนื่องจากอียูต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทอังกฤษจะไม่มีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเหนือคู่แข่งอื่น ๆ ในยุโรป โดยอียูยืนยันให้บริษัทอังกฤษอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดิมของอียู โดยเฉพาะในด้านสิทธิแรงงานและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทางผู้นำอังกฤษยืนยันว่าไม่สามารถรับเงื่อนไขนั้นได้