ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเจ้าภาพงานพิธีปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน เข้าสู่ระดับปกติ ซึ่งมีตัวแทนจากทั้ง 3 ประเทศเข้าร่วมที่ทำเนียบขาว
พิธีลงนามความตกลงปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Abraham Accord” เกิดขึ้นที่บริเวณสนามหญ้าทางฝั่งใต้ของทำเนียบขาวในวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ โดยผู้ที่เข้าร่วมคือ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของ อิสราเอล และ ชีค อับดุลลาห์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้ง อับดุลลาทิฟ บิน ราชิด อัลซายานิ รัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน
ก่อนการจัดงานนี้ อิสราเอลและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สามารถบรรลุข้อตกลงการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ขณะที่ อิสราเอลและบาห์เรนเพิ่งประกาศความสำเร็จด้านนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ภายใต้ข้อตกลงที่ทั้ง 3 ประเทศร่วมลงนามนี้ นายกรัฐมนตรี เนทันยาฮู จะระงับแผนผนวกเวสต์แบงก์ไว้ก่อน ซึ่งผู้สังเกตการณ์ ติงไว้ว่า ความสัมพันธ์ที่เริ่มดีขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้กลุ่มประเทศอาหรับเริ่มใกล้ชิดกับอิสราเอลมากขึ้น ขณะที่ปาเลสไตน์จะถูกกีดกันออกไปด้วย
ดานา เอล เคิร์ด จากองค์กรค้นคว้าวิจัยด้านนโยบายปาเลสไตน์ อัล-ชาบากา (Al-Shabaka) บอกกับผู้สื่อข่าวของ วีโอเอ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข้อตกลงปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและบาห์เรน เป็นหลักฐานที่ชี้ว่า รัฐบาลกลุ่มประเทศอาหรับกำลังถอยห่างจาก แนวคิดสันติภาพอาหรับ ปี 2002 (2002 Arab Peace Initiative) ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในด้านโครงการเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นรัฐหรือประเด็นเกี่ยวกับปาเลสไตน์เลย
นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ โมฮัมเหม็ด ชตาเยห์ ทวีตข้อความออกมาประณามการลงนามข้อตกลงดังกล่าว โดยระบุว่า ความตกลงล่าสุดนี้เป็น “วันที่มืดดำในประวัติศาสตร์ชาติอาหรับ”
ทั้งนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดี ทรัมป์ เฝ้าประกาศย้ำว่า ข้อตกลงการปรับความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ประเทศนี้คือ ชัยชนะของนโยบายต่างประเทศชิ้นสำคัญ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ขณะที่ อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ผู้ลงสมัครชิงชัยตำแหน่งผู้นำประเทศจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ปรับระดับความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้เป็นปกติ และเชื่อว่า “อิสราเอลต้องเตรียมตัวทำงานหาทางแก้ 2 รัฐ” กับปาเลสไตน์ได้แล้ว