ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: อำนาจฝ่ายบริหารของทรัมป์ กับบทบาทศาลสูงในการถ่วงดุล


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จับมือกับประธานตุลาการศาลสูง จอห์น โรเบิร์ตส หลังจากปฏิญาณตนรับตำแหน่งสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2025 ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จับมือกับประธานตุลาการศาลสูง จอห์น โรเบิร์ตส หลังจากปฏิญาณตนรับตำแหน่งสมัยที่สอง เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2025 ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

การใช้อำนาจฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง ทำให้เกิดคำถามว่า ศาลสูงสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายตุลาการ จะสามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลชุดนี้ได้มากน้อยแค่ไหน?

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนชี้ว่า นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ดูเหมือนประธานาธิบดีทรัมป์จงใจใช้อำนาจผู้นำฝ่ายบริหารมากกว่าอดีตประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือการจำกัดการให้สถานะพลเมืองอเมริกันแก่เด็กทารกทุกคนที่เกิดในประเทศนี้ การระงับงบประมาณที่ผ่านการรับรองของรัฐสภาแล้ว ตลอดจนการถอดถอนหัวหน้าองค์กรอิสระของรัฐบาลกลางหลายแห่ง

เออร์วิน เคเมรินสกี คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลีย์ (University of California Berkeley) กล่าวว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ "ทัศนคติอย่างสุดขั้วเรื่องการใช้อำนาจของประธานาธิบดีอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน"

มาร์ค ทุชเนต์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard) เชื่อว่า "ขณะนี้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเดิมพันว่า ตุลาการศาลสูงชุดนี้จะไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องกฎหมาย และทางรัฐบาลกำลังถือไพ่เหนือกว่า"

แรงต้านในฝ่ายตุลาการ

คำสั่งฝ่ายบริหารหลายสิบฉบับที่ทรัมป์ลงนามได้นำไปสู่การฟ้องร้องในศาลชั้นรอง ๆ ลงมา รวมถึงคำสั่งเรื่องมาตรการกีดกันผู้อพยพ จำกัดสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลข้ามเพศ และสถานะทางกฎหมายของสำนักงานประสิทธิภาพของรัฐบาลกลาง หรือ DOGE ที่ทรัมป์จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ลดงบประมาณและขนาดของรัฐบาลกลาง โดยให้มหาเศรษฐีอีลอน มัสก์เป็นผู้ดำเนินการ

คาดว่า ตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ จะต้องนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องต่าง ๆ เกี่ยวกับนโยบายของทรัมป์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขึ้นอยู่กับว่าคำร้องเหล่านั้นจะผ่านศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาอย่างรวดเร็วแค่ไหน

สตีฟ ชวินน์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ วิทยาเขตชิคาโก (University of Illinois Chicago) เชื่อว่า คำสั่งหลายฉบับของทรัมป์มีโอกาสสูงที่จะถูกปัดตกในชั้นศาล โดยเฉพาะคำสั่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เช่น การสั่งปิดหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งก่อตั้งและได้รับทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ รวมทั้งความพยายามตัดงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว

ก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางบางคนได้สั่งชะลอความพยายามของทรัมป์ในบางเรื่องแล้ว รวมทั้งการตัดงบประมาณของบางหน่วยงาน

โรเบิร์ต ไช่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) กล่าวว่า ทรัมป์มีโอกาสแพ้หากคำร้องนั้นเดินทางไปถึงศาลสูง เมื่อพิจารณาจากการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันอย่างชัดเจนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รวมทั้งคำสั่งที่ขัดกับกฎหมายและคำตัดสินของศาลสูงเองก่อนหน้านี้

จำกัดสถานะพลเมืองอเมริกันสำหรับเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ

หลังเข้ารับตำแหน่งปธน. เพียงวันเดียว ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งจำกัดการให้สถานะพลเมืองสหรัฐฯ โดยอัตโนมัติแก่เด็กทารกทุกคนที่เกิดในประเทศนี้ ในกรณีที่พ่อและแม่ของเด็กไม่ใช่พลเมืองอเมริกันหรือมิได้อาศัยอยู่ในประเทศนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมาศาลในบางรัฐได้สั่งระงับคำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าวอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งของทรัมป์ขัดกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บทแก้ไขที่ 14 ที่ระบุว่า เด็กทุกคนที่เกิดในสหรัฐฯ ถือเป็นพลเมืองของประเทศนี้

รอยเตอร์ได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ซึ่งทุกคนต่างระบุว่าหากเรื่องนี้ถูกส่งไปถึงศาลสูง เชื่อว่าศาลสูงจะปัดตกทันที

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนยังคงไม่มั่นใจ และคาดว่าอาจมีตุลาการฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างน้อยหนึ่งคนที่ต้องการให้เปิดพิจารณากฎหมายสถานะพลเมืองที่แก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1898 ภายใต้คำร้องที่ชื่อว่า "สหรัฐฯ กับ หว่อง คิม อาร์ก" (United States v. Wong Kim Ark) ที่อาจตีความได้ว่า หมายถึงเด็กทุกคนที่เกิดในสหรัฐฯ ซึ่งพ่อแม่ไม่ใช่พลเมืองอเมริกันแต่กำลังอยู่ระหว่างการได้รับสถานะที่ถูกต้อง

ด้านกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ชี้ว่า คำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงหมายรวมถึงเด็กที่มีพ่อแม่อยู่อาศัยอย่างถาวรในสหรัฐฯ เท่านั้น

กัวแตม ฮานส์ อาจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ (Cornell) แสดงความหวังว่า ศาลสูงจะสั่งยับยั้งคำสั่งฝ่ายบริหารว่าด้วยการจำกัดการให้สถานะพลเมืองสหรัฐฯ นี้ทันที แต่ที่ผ่านมาตนยังไม่มั่นใจในตุลาการศาลสูงชุดนี้มากนัก และว่า การดำเนินนโยบายของทรัมป์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังเข้ารับตำแหน่ง ถือเป็น "ภัยคุกคามสูงสุดต่อประชาธิปไตยของอเมริกานับตั้งแต่สงครามกลางเมือง"

ศาลสูงกับคำตัดสินเอียงขวา

ปัจจุบัน 6 ใน 9 ของตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ คือผู้มีแนวคิดเอนเอียงทางอนุรักษ์นิยม ในจำนวนนี้มี 3 คนที่ทรัมป์เป็นผู้แต่งตั้งระหว่างการดำรงตำแหน่งสมัยแรก ได้แก่ผู้พิพากษานีล กอร์ซิช, ผู้พิพากษาเบรตต์ คาวานาห์ และผู้พิพากษาเอมี โคนีย์ แบร์เรตต์

นั่นหมายความว่าการจะที่จะมีคำตัดสินที่ขัดแย้งกับปธน.ทรัมป์ จะต้องมีตุลาการฝ่ายขวาอีกอย่างน้อย 2 คนที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายเสรีนิยมที่มี 3 คน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนคำตัดสินของศาลสูงชุดนี้กำลังทำให้กฎหมายของของสหรัฐฯ เอนเอียงไปทางขวามากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งการกลับคำตัดสินของศาลสูงว่าด้วยสิทธิในการทำแท้งเสรี และการขยายสิทธิในการถือครองปืนเมื่อปี 2022 รวมทั้งการปฏิเสธกระบวนการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ผ่านนโยบายความหลากหลายทางเชื้อชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงชัยชนะทางกฎหมายของทรัมป์ในคดีฟ้องร้องสามคดีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การยืนยันสิทธิของประธานาธิบดีที่จะได้รับการปกป้องจากการถูกดำเนินคดีอาญาต่าง ๆ ขณะที่อยู่ในตำแหน่งด้วย

ทั้งนี้ ตุลาการศาลสูงนั้นจะอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตนอกเสียจากจะลาออกเสียเอง โดยทรัมป์อาจจะมีโอกาสแต่งตั้งตุลาการคนใหม่ในช่วงสี่ปีจากนี้ขณะที่เขาอยู่ในตำแหน่งด้วย หากว่ามีผู้พิพากษา 1 ใน 9 ที่มีเหตุให้ต้องสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งลง

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG