สืบเนื่องจากข่าวใหญ่เมื่อเย็นวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐฯ ที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอ ใช้หมายค้นเข้าไปหาหลักฐานในบ้านของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ยังไม่เป็นที่ทราบเเน่ว่าอะไรคือเหตุผลอย่างเฉพาะเจาะจงที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
ผู้สื่อข่าววีโอเอ ดอรา เมคัวร์ รายงานว่า สิ่งที่ทราบตอนนี้คือ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำลังสืบสวนกล่องเอกสารที่มีข้อมูลลับ ซึ่งพบว่าถูกเก็บไว้ที่บ้านของทรัมป์ ในรัฐฟลอริดา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์สำนักข่าวเอพีรายงานว่า พบเอกสารที่มีข้อมูลลับของทำเนียบขาวบรรจุอยู่ในกล่อง 15 ใบ ที่ถูกนำไปเก็บที่ มาร์-อะ-ลาโก ซึ่งเป็นบ้านของทรัมป์ในฟลอริดา ตามการอ้างของหน่วยงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สหรัฐฯ หรือ National Archives and Records Administration ในตอนนั้นไม่เป็นที่ทราบเเน่ชัดว่ากระทรวงยุติธรรมและเอฟบีไอจะสืบสวนเหตุดังกล่าวต่อหรือไม่
คำถามที่ตามมาในตอนนี้คือ เหตุใดเอกสารของประธานาธิบดีที่เกี่ยวกับการทำงานในตำแหน่ง เช่น บันทึกการโทรศัพท์เข้า-ออก และจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ จึงไม่ใช่ของส่วนตัวของประธานาธิบดี แต่เป็นของรัฐบาลกลาง ภายใต้การดูเเลของหน่วยงานหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เมแกน โรอัน กูธอน รักษาการรองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อมูลเกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมบัติของรัฐบาลอเมริกัน
เธอกล่าวเสริมว่าไม่ว่าเอกสารของประธานาธิบดีจะมาจากการมอบให้ บริจาค หรือยึดมาได้ ของเหล่านี้เป็นของรัฐบาลกลาง ตามอำนาจของกฎหมายที่เรียกว่า Presidential Records Act ปีค.ศ. 1978
กฎหมายฉบับดังกล่าวของสหรัฐฯ ระบุว่า ทันทีที่ประธานาธิบดีพ้นตำแหน่ง เอกสารของประธานาธิบดีทั้งหมดจะถูกโอนให้อยู่ในการดูเเลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหากมีการสร้างห้องสมุดประธานาธิบดีหลังการออกจากตำแหน่งของผู้นำคนใด เอกสารของห้องสมุดเหล่านั้นก็อยู่ในการดูเเลของหน่วยงานนี้เช่นกัน
ไรอัน กูธอนกล่าวว่าจากเอกสารทั้งหมด จะมีเพียง 1%-3% เท่านั้นที่ถูกเก็บอย่างถาวร
เขากล่าวว่าเอกสารเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเรื่องสิทธิของคนอเมริกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน
แต่กว่าอเมริกาจะมีระบบเก็บเอกสารของประธานาธิบดีอย่างเป็นระบบและมีกฎหมายบัญญัติที่ชัดเจน ประวัติศาสตร์สหรัฐฯต้องผ่านบทเรียนที่สำคัญมา
เดิมทีเอกสารของผู้นำสหรัฐฯ ถูกกำหนดให้เป็นของส่วนตัวตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนเเรกของอเมริกา จนถึงประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์
ในยุคประธานาธิบดีเเฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ เขาเริ่มบริจาคเอกสารช่วงการดำรงตำแหน่งของตนในปี 1940 ให้กับทางการเพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นประธานาธิบดีคนต่อๆมามักทำเช่นเดียวกัน
ประเพณีดังกล่าวต้องสะดุดลงเมื่อ ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันกลับหาทางทำลายเอกสารในช่วงที่ตนเป็นผู้นำประเทศ
เอกสารเหล่านั้นรวมถึงเทปอัดเสียงของการสนทนาลับ ช่วงข่าวอื้อฉาวคดี Watergate ซึ่งทำให้นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่ง
สภาอเมริกันในตอนนั้นตั้งข้อสันนิษฐานว่าเทปดังกล่าวอาจมีหลักฐานการกระทำผิดโดยประธานาธิบดี จึงผลักดันให้เกิดกฎหมาย Presidential Recordings and Materials Preservation Act ปี 1974 ที่ใช้เฉพาะกับการเก็บเอกสารสมัยนิกสัน ให้อยู่ภายใต้หน้าที่ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ในยุคปัจจุบัน ที่มีกฎหมายบัญญัติให้เอกสารของประธานาธิบดีเป็นของรัฐบาลกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถยื่นคำร้องขอดูเอกสารได้ หลังจากประธานาธิบดีพ้นตำแหน่ง 5 ปี แต่ในบางกรณีหากประธานาธิบดีคนใดใช้ข้อยกเว้นพิเศษ ระยะเวลาการรอ จะเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 12 ปีได้
- ที่มา: วีโอเอ และเอพี