การประชุม East Asia Summit ที่ฟิลิปปินส์ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้จะเป็นการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสมาชิกสมาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนอีก 8 คือ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
และนักวิเคราะห์หวังว่า การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จะเป็นการส่งสัญญาณว่าวอชิงตันให้ความสนใจกับภูมิภาคเอเชีย ถึงแม้จะเป็นในเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม
นับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม บรรดาผู้นำของอาเซียนได้รอดูท่าทีว่าสหรัฐฯ จะเริ่มผลักดันการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีเพื่อทดแทนข้อตกลงการค้าเสรี TPP ที่ถูกยกเลิกไปหรือไม่?
และจะมีการสร้างความชัดเจนเรื่องนโยบายในทะเลจีนใต้ของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์อย่างไร?
การประชุม East Asia Summit ที่ว่านี้ เป็นเวทีสำคัญสำหรับการหารือประเด็นความมั่นคงในระดับภูมิภาค และเมื่อปีที่แล้ว ผู้นำประเทศที่ร่วมประชุมได้ออกคำแถลงย้ำยืนยันมติของสหประชาชาติ ที่ห้ามกลุ่มหรือบุคคลใดซึ่งไม่ใช่รัฐบาล มีอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรงอยู่ในครอบครอง
สำหรับปีนี้ นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างเช่นคุณ Trung Nguyen คณบดีคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยโฮจิมินห์ ในเวียดนาม ชี้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์คงจะมีคำแถลงอย่างกว้างๆ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจ แทนที่จะแสดงความผูกพันในเรื่องใดอย่างเฉพาะเจาะจง
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เคยกล่าวสนับสนุนเรื่องการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เพื่อนำมาใช้แทนความตกลงการค้าเสรีพหุภาคี TPP
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเยือนเอเชียครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้พยายามผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ากับญี่ปุ่นเท่านั้นเอง
ในด้านความมั่นคง ถึงแม้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ส่งเรือรบไปลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีเนื้อที่ราว 3,500,000 ตารางกิโลเมตร เพื่อเป็นการเตือนจีนเรื่องเสรีภาพของการเดินเรือก็ตาม
แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ชี้ว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นเป็นนโยบายที่คงเส้นคงวาดังที่ผู้นำของอาเซียนต้องการ และปักกิ่งเองซึ่งมองนโยบายปักหมุดเอเชียของประธานาธิบดีโอบามาว่าเป็นการคุมอำนาจจีน ก็ได้คัดค้านการยืนยันเรื่องเสรีภาพสำหรับการเดินเรือของประธานาธิบดีทรัมป์เช่นกัน
ส่วนนักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์อีกคนหนึ่ง อย่างคุณ Sean King จากบริษัท Park Strategies Consultancy ในสหรัฐฯ ชี้ว่าแม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจเข้าร่วมการประชุม East Asia Summit แต่ตนก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้จะเป็นผลได้มากเพียงใด
เพราะถึงแม้นโยบายย้ำยืนยันเสรีภาพของการเดินเรือจะดูเป็นเรื่องน่าฟัง แต่มาตรการทางทหารเพียงแค่นี้ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์เรื่องทะเลจีนใต้อย่างชัดเจนของสหรัฐฯ