ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ถึงเวลา ‘ถอยหลัง’ เมื่อสหรัฐฯ ปลดเวลาออมแสง


ริช ฟินน์ และ ทอม เอิร์บ สองช่างนาฬิกา ทำการปรับเวลานาฬิกาเมื่อ 30 ต.ค. 2567
ริช ฟินน์ และ ทอม เอิร์บ สองช่างนาฬิกา ทำการปรับเวลานาฬิกาเมื่อ 30 ต.ค. 2567

เมื่อเวลาในสหรัฐฯ ถึง 02.00 น. ของวันอาทิตย์ เข็มนาฬิกาทวนกลับไป 1 ชั่วโมงเพื่อแสดงการสิ้นสุดของช่วงเวลาการออมแสง (daylight saving time – DST) ของปีนี้ และแปลว่า ทุกคนในสหรัฐฯ มีเวลานอนเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั่วโมง

การปรับเวลาเร็วขึ้นนี้จะมีผลต่อไปอีกจนกระทั่งถึงวันที่ 9 มีนาคมของปีหน้าที่จะต้องมีการปรับเข็มชั่วโมงนาฬิกาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ดังคำพูดที่ว่า “spring forward” ที่แปลได้ว่า ฤดูใบไม้ผลิ-ก้าวไปข้างหน้า และ “กระโดดไปข้างหน้า” เพื่อการ “ออมแสง” อีกครั้ง

ขณะที่ การปรับเวลาถอยหลังปีละครั้งนี้อาจไม่เป็นปัญหามากสำหรับคนหลายคน บางคนอาจต้องพยายามปรับตัวให้คุ้นกับเวลานอนที่เร็วขึ้น รวมทั้งทำใจกับการที่เห็นฟ้ามืดสนิทหลังเลิกงาน และบางคนอาจมีปัญหาหนักถึงขั้นมีอาการซึมเศร้า (depression) ตามฤดูกาล เนื่องจากวันที่สั้นลงและการเจอแสงแดดที่น้อยลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว

องค์กรสุขภาพบางแห่ง เช่น American Medical Association และ American Academy of Sleep Medicine ให้ความเห็นว่า ถึงเวลาที่จะมีการพิจารณาการยกเลิกนโยบายปรับเวลาเดินหน้าและถอยหลัง และยึดเวลามาตรฐานที่สะท้อนการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และระบบชีววิทยาของคนเรามากกว่า

ในสหรัฐฯ มีเพียงรัฐแอริโซนาและรัฐฮาวาย เท่านั้นที่ไม่มีการปรับเวลาและยึดเวลามาตรฐานเดียวตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้คือ สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการปรับเวลาปีละ 2 ครั้ง

จิม กอนโกเลสกิ ช่างนาฬิกา เร่งทำงานซ่อมนาฬิกาของอนุสาวรีย์ ในเมืองเมดฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อ 30 ต.ค. 2567
จิม กอนโกเลสกิ ช่างนาฬิกา เร่งทำงานซ่อมนาฬิกาของอนุสาวรีย์ ในเมืองเมดฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อ 30 ต.ค. 2567

ปฏิกิริยาของร่างกายคนเราต่อแสง

สมองของเรานั้นเป็นเหมือนนาฬิกาหลักที่ถูกตั้งให้ทำงานตามการรับแสงแดดและความมืด โดยอิงกับเวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วันตามวงจรเซอร์คาเดียน (circadian rhythm) เพื่อกำหนดว่า เราควรรู้สึกง่วงนอนเมื่อใดและควรรู้สึกตื่นเมื่อใด โดยรูปแบบนั้นจะเปลี่ยนไปตามอายุด้วย ดังเช่นที่เราเห็นเด็กเล็กที่ตื่นแต่เช้ากลายมาเป็นวัยรุ่นที่ตื่นยากกันเป็นประจำ

แสงยามเช้านั้นเป็นเหมือนตัวตั้งเวลาใหม่ทุกเช้า โดยเมื่อเวลาเย็นมาถึง ฮอร์โมนที่ชื่อ เมลาโทนิน ในร่างการเราก็จะเริ่มพุ่งสูงและทำให้รู้สึกง่วงหงาวหาวนอน แต่การได้รับแสงมากเกินไปในช่วงเย็น ซึ่งได้มาจากการปรับเวลาออมแสง ทำให้การปรับขึ้นของฮอร์โมนที่ว่าและวัฏจักรดังกล่าวผิดเพี้ยนไป

การเปลี่ยนเวลากระทบการหลับนอนอย่างไร

การเปลี่ยนเวลาเพียง 1 ชั่วโมงอาจมีผลทำให้ตารางการนอนของคนเราผิดเพี้ยนรุนแรงได้ เพราะแม้เวลาตามนาฬิกาจะเปลี่ยน ตารางการทำงานหรือการเรียนหนังสือก็จะยังคงเหมือนเดิมเสมอ

นี่เป็นปัญหาสำหรับคนหลายคนที่มีปัญหานอนไม่พออยู่แล้ว โดยราว 1 ใน 3 ของคนอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่นอนน้อยกว่าระดับ 7 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นต่อคืนตามที่แพทย์แนะนำอยู่แล้ว และกว่าครึ่งหนึ่งของวัยรุ่นอเมริกันก็ไม่ได้นอนมากกว่า 8 ชั่วโมงในคืนวันกลางสัปดาห์ด้วย

ปรับตัวรับการเปลี่ยนเวลาอย่างไร

บางคนพยายามเตรียมตัวรับการปรับเวลาด้วยการเปลี่ยนเวลาเข้านอนทีละน้อย ๆ ก่อนวันเปลี่ยนเวลาจะมาถึง แต่ก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นอยู่ เช่น การพยายามรับแสงแดดมากขึ้นในแต่ละวันเพื่อปรับวงจรเซอร์คาเดียนในร่างกายให้พร้อมรับการนอนที่เต็มอิ่ม

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG