ชาวเมียนมาทั่วประเทศรวมตัวกัน “ประท้วงเงียบ” เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา ในขณะที่การประท้วงได้ล่วงเข้าสู่วันที่ 51 แล้ว
นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้ผู้คนอยู่บ้านและไม่อุดหนุนธุรกิจใด ๆ เป็นเวลาหนึ่งวัน ซึ่งเป็นวิธีใหม่เพื่อรับมือกับการปราบปรามการประท้วงรายวันของทางกองทัพที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
การประท้วงในเมียนมาเป็นไปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนของเมียนมา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพลเรือนคนอื่น ๆ ถูกยึดอำนาจและควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์
พยานระบุว่า การประท้วงเงียบนี้ทำให้ถนนในนครย่างกุ้งและเมืองอื่น ๆ โล่งและปลอดภัยพอสำหรับผู้ขับขี่ยานยนต์และผู้ขี่จักรยาน
กลุ่มเคลื่อนไหวท้องถิ่น Assistance Association for Political Prisoners หรือ AAPP ระบุว่า กองทัพสังหารผู้ประท้วงอย่างน้อย 275 คน โดยหนึ่งในนั้นคือเด็กหญิงอายุ 7 ปีที่ถูกยิงขณะที่ทหารบุกเข้าบ้านของเธอในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันอังคาร ตามรายงานของสำนักข่าวเมียนมา นาว และสำนักข่าวรอยเตอร์
รายงานระบุว่า เด็กหญิงคนดังกล่าวนั่งบนตักพ่อของเธอขณะที่ทหารบุกเข้าบ้านและถามว่าสมาชิกในครอบครัวทุกคนอยู่ที่บ้านหรือไม่ พ่อของเธอตอบรับ แต่ทหารกลับบอกว่าเขาโกหกและยิงปืนจนถูกเด็กหญิงเสียชีวิต
AAPP ระบุว่า ประชาชนกว่า 2,000 คนถูกจับและคุมขังตั้งแต่ทางการเริ่มปราบปรามการประท้วง มีรายงานว่า รถเมล์หลายคันบรรทุกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารออกจากคุกอินเส่งในนครย่างกุ้งเมื่อวันพุธ โดยสำนักข่าว The Associated Press และสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า มีผู้ถูกปล่อยตัวกว่า 600 คน
หนึ่งในผู้ถูกปล่อยตัวคือเทียน จอ ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว The Associated Press โดยเขาถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงที่นครย่างกุ้งพร้อมผู้สื่อข่าวคนอื่น ๆ อีกแปดคน
ในขณะเดียวกัน กำหนดการขึ้นศาลทางออนไลน์ของนางซูจี ที่แต่เดิมมีกำหนดในวันพุธที่กรุงเนปิดอว์นั้น ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 เมษายน
ขิ่น หม่อง ซอว์ ทนายความของนางซูจี บอกกับทางวีโอเอว่า ตำรวจปิดถนนที่มุ่งหน้ามายังศาล และอนุญาตให้ทนายฝึกหัดเพียงสองคนเข้าไปในศาล เขาระบุว่า ผู้พิพากษาบอกกับทนายทั้งสองว่า ไม่สามารถจัดการประชุมทางวิดีโอเพื่อพิจารณาคดีในวันพุธได้
ก่อนหน้านี้ มีการนัดพิจารณาคดีนางซูจีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตใช้งาน โดยทางการได้ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตตอนกลางคืนติดต่อกันมาหลายสัปดาห์แล้ว เพื่อขัดขวางการส่งต่อข้อมูลของผู้ประท้วงทั่วประเทศ
นางซูจีวัย 75 ปี เผชิญการฟ้องร้องสี่ข้อหา ได้แก่ ครอบครองวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนกฎควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ละเมิดกฎหมายโทรคมนาคม และปลุกปั่นให้เกิดความไม่งบในที่สาธารณะ
รัฐบาลทหารเมียนมายังกล่าวหานางซูจีด้วยว่า เธอรับเงิน 600,000 ดอลลาร์และทองคำแท่งอย่างผิดกฎหมายขณะที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำพลเรือน
กองทัพเมียนมาให้เหตุผลในการทำรัฐประหารว่า มีการโกงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจีได้รับชัยชนะ แม้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาจะรุบว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริงก็ตาม